บันทึก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช “เรียนรู้จากคดีซุกหุ้นรอบ 2 และโกงชาติ”
มองคดียึดทรัพย์ทักษิณ ทำให้จริยธรรมของสังคมเสื่อมและสร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดแก่สังคมไทย วัดเป็นเงินไม่ได้ วอนพลเมืองที่คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมืองช่วยกันรื้อฟื้นวางรากฐานธรรมะในสังคมขึ้นใหม่ โดยเฉพาะแวดวงการเมือง
หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2553 ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้เขียนบันทึกการเมืองไทยไว้ ในเว็บไซต์ http://gotoknow.org/blog/thai-politics เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2553 ชื่อเรื่อง “บันทึกการเมืองไทย : เรียนรู้จากคดีซุกหุ้นรอบ 2 และโกงชาติ” โดยระบุว่า คดีนี้ไม่มองที่แพ้ชนะ ไม่มองว่าใครแพ้ใครชนะ แต่มองที่ผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ
ศ.นพ.วิจารณ์ ระบุว่า จากคำกล่าวหา คำแก้ต่าง ข้อพิจารณา และคำตัดสินของศาล ตนสรุปว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนโกหกลวงโลก และอาศัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว และพวกพ้องอย่างหน้าด้าน โดยต้องค่อยๆ อ่านคำพิพากษาอย่างช้าๆ ทำความเข้าใจให้ตลอด จะเห็นความฉลาดแกมโกงของคนคนนี้
“ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินคดีโดยใช้วิธีไต่สวนหาความจริง และตัดสินโดยบอกความจริงแก่สังคม โดยอิงกฎหมายพิจารณาผู้ถูกกล่าวหาในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตัดสินว่าผิดทั้ง 2 กระทง คือ (1) ซุกหุ้น ในระหว่างดำรงตำแห่งนายกฯ ยังคงเป็นเจ้าของหุ้นตัวจริงของชินคอร์ปฯ แต่หลอกสังคมว่าตนไม่เกี่ยวข้องแล้ว (2) ใช้ตำแหน่งนายกฯ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปฯและบริษัทในเครือ ในส่วนนี้ศาลพิพากษาว่าผิดทั้ง 5 กรณีที่ถูกกล่าวหา”
ศ.นพ.วิจารณ์ ระบุอีกว่า คดีนี้ตนไม่มองที่แพ้ชนะ ไม่มองว่าใครแพ้ใครชนะ แต่มองที่ผลประโยชน์ของบ้านเมือง หนังสือพิมพ์ประมาณว่า ความเสียหายที่เกิดต่อรัฐ ประมาณ 120,000 ล้านบาท แต่ตนมองจากมุมของธรรมะประจำใจคน เพื่อจรรโลงสังคมให้เป็นสังคมของคนมีจิตใจสูง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
“ความเสียหายส่วนที่ผมเห็นว่ารุนแรงที่สุดที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก่อให้แก่สังคมไทย คือส่วนที่วัดเป็นเงินไม่ได้ คือทำให้จริยธรรมของสังคมเสื่อมทราม ทำให้คนจำนวนมากหลงผิดว่าพฤติกรรมแบบที่พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ปฏิบัติเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เป็นการสร้างตัวอย่างที่เลวให้แก่สังคมไทย ภาระตกอยู่แก่พวกเรา ที่เป็นพลเมืองที่คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมือง ที่จะต้องช่วยกันรื้อฟื้น วางรากฐานธรรมะในสังคมขึ้นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแวดวงการเมือง”