อดีตคณบดีนิติฯ จุฬาฯ ผนึกกำลังปลดแอกพลังปัญญา
“สุรเกียรติ์” ปลุกนักวิชาการกล้าคิดกล้าพูดนำองค์ความรู้สู่สังคมไทยให้มีสติ-ปัญญา แก้ปัญหาความแตกแยก ขณะที่“ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล”ขอให้คนไทยช่วยกันคนละไม้ละมือทำให้แผ่นดินไทยสงบเรียบร้อย ถวาย“ในหลวง”
เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ และคณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่านิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการเสรีภาพทางการแสดงออกทางวิชาการ เพื่อร่วมแสวงหาสติและปัญญาสู่สังคมไทย ครั้งที่ 1 มีอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นวิทยากรเสวนา เรื่อง “ขอพื้นที่ให้สติและปัญญาบ้าง” ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ พ.ศ.2535-2538 กล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ว่า กำลังเคลื่อนไปสู่ภาวะที่น่าห่วงน่ากังวล มีความแตกแยกกันค่อนข้างสูง เรียกว่า ความแตกแยกทางสังคมไม่ใช่ความแตกแยกทางการเมือง เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 และการมาพูดกันวันนี้ไม่ใช่เพราะกำลังจะมีเหตุการณ์วันที่ 26 ก.พ. แต่หากไม่มีเวทีไม่มีพื้นที่ให้เหตุให้ผลให้ปัญญาที่มีอยู่อุดมในสังคมไทยมาแก้ปัญหาแล้ว ปัญหาก็ไม่จบจะวนเวียนอยู่กับเราต่อไป
“ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องร่วมมือกันแสดงความเห็นทางวิชาการ ด้วยเหตุผล ด้วยหลักการ โดยไม่ต้องถูกตีตราว่าเป็นสีใด มิเช่นนั้นองค์ความรู้ที่มีอยู่จะไม่สามารถเคลื่อนมาเป็นพลังแก้ปัญหาให้สังคมได้” รศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว และว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ไม่มีองค์ความรู้ แต่ปัญหา คือ องค์ความรู้ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ เพราะถูกตรึงอยู่กับที่ เกิดวงเกลียวแห่งความเงียบทางวิชาการ เวลานี้ไม่มีใครสามารถเตือนสติใครได้ แม้กระทั้งพระสงฆ์
รศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาความแตกแยกทางสังคมก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ทั้งปัญหาด้านการต่างประเทศ ขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน คนในประเทศเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สังคมไทยมีการเผชิญหน้าทางกฎหมายมากขึ้น มีการฟ้องร้องในศาลต่างๆ ตลอดเวลา ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด รวมทั้งมีการเผชิญหน้าทางการเมืองที่รุนแรง ที่สำคัญความเป็นไทยน้อยลง ให้อภัยกันน้อยลง แต่กลับใช้อารมณ์กันมากขึ้น จนกลายเป็นสังคมที่ไม่มีทางออก
“ดังนั้น ขอเรียกร้องให้ประชาคมนักวิชาการจากทุกมหาวิทยาลัยมาร่วมมือและรวมพลังกันอย่างรวดเร็ว ให้องค์ความรู้ทางวิชาการออกมาสู่สังคม กล้าคิด กล้าพูด เพื่อหาทางออกให้สังคมแบบไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ลดการเผชิญหน้า ทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่ให้อภัยกัน มีเหตุมีผล มีสติและปัญญา”
ขณะที่รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ พ.ศ.2542-2544 ได้ยกตัวอย่างกรณี เครื่องจีที 200 ,ยาที่กินแล้วครูตีจะไม่เจ็บ และยาหยอดตาป้าเช็ง พร้อมกับตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยเหตุผล สติ ปัญญา การดำรงชีพของคนไทยเวลานี้ อ่อนด้อยมีความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่เป็นเหตุเป็นผลไปแล้ว ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรเป็นสติ ปัญญาให้กับสังคม มากกว่าการสอนอย่างเดียว ซึ่งหน้าที่ของหน่วยงานทางวิชาการ คือการทำให้ความชัดเจนของข้อมูลข่าวสารปรากฏชัดต่อสาธารณะ และสังคมสามารถนำไปเลือกใช้ได้
รศ.ธงทอง กล่าวว่า หนักใจที่จะพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการ เพราะตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา นักวิชาการทั้งหลายอาจแหยงๆ เนื่องจากถูกตีตราว่า เลือกข้าง ขณะเดียวกันผู้ฟังไม่เคยหยิบเอาสาระมาวิเคราะห์ จริงไม่จริง หรือมีน้ำหนักมีข้อหักล้างทางวิชาการหรือไม่ แต่กลับตัดสินที่ใครได้หรือเสียประโยชน์มากกว่า ดังนั้น ควรทำให้ความคิดเห็นทางวิชาการได้รับการปกป้อง จึงจะทำให้นักวิชาการนำเสนอข้อมูลได้โดยไม่แหยง
“วันนี้ต้องตั้งคำถามกับตัวเราเองว่า สังคมไทยพร้อมที่จะหยุดคิดให้พื้นที่กับสติและปัญญาบ้างหรือไม่ สังคมไทยต้องมีสติและปัญญา เรียนรู้และสร้างค่านิยมประชาธิปไตยไม่เพียงแค่ถ้อยวาจาเท่านั้น”
รศ.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ พ.ศ.2544-2552 กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการนำองค์ความรู้สู่สังคม ในช่วงที่ผ่านมาว่า เมื่อปี 2549 กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปฯ มีข้อขัดแย้งมากจนหาคนอธิบายไม่ได้ ก็มีการจัดเวทีซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี หรือเรื่องฏีกาเสื้อแดง ทางมหาวิทยาลัยถูกคลื่นกระทบมาก จนคิดว่า การแสดงความเห็นทางวิชาการแบบนี้เหนื่อย
"เสรีภาพทางวิชาการ จะเป็นเวทีสติและปัญญาได้ ต้องเปิดใจกว้างยอมรับสิ่งที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพูด หาหลักวิชาการมาตอบโต้ไม่ใช่การไปแจ้งความดำเนินคดี ทำให้มองว่า ขณะนี้สังคมไม่เอื้ออำนวยให้มหาวิทยาลัยเป็นเสาหลักของแผ่นดิน หลายครั้งมีการใช้เรื่องหมิ่นประมาทมาเล่นงานนักวิชาการ จนเกิดความหวาดกลัว เพราะสังคมไทยใช้กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น แต่กลับมีการคุยกันน้อยลง"
ส่วนศ.พิเศษประสิทธิ์ โฆวิไลกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ พ.ศ.2521-2535 กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดในบ้านเราเกิดจากวิกฤตความยุติธรรม วิกฤตกฎหมาย ส่วนปัญหาวิกฤตสังคมเกิดขึ้นง่าย แต่แก้ไขยาก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน เป็นเรื่องเศร้ามาก พร้อมกับตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 3 ปีในประเทศนั้น มีใครแพ้ใครชนะหรือไม่ คนที่แพ้คือประเทศไทย ประชาชนคนไทยทั้งหมด ฉะนั้นคนไทยทั้งแผ่นดินต้องช่วยกัน เพราะหากไม่คิดตอนนี้ ภัยหลังจากนี้ คนไทยจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานภายหลัง
“ผู้ที่จะแก้ไขปัญหาต้องใช้สติและปัญญา ขอให้คนไทยยึดทางสายกลาง หยุดนิ่ง สงบ ตั้งสมาธิ หยุดโทษคนอื่น แล้วหันมาพิจารณาตัวเอง ช่วยกันคนละไม้ละมือ ช่วยกันทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยเป็นส่วนๆ รวมกันแล้วแผ่นดินไทยก็สงบเรียบร้อยทั้งประเทศ ทำเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำเพื่อแผ่นดินไทย และศาสนาพุทธ”