วิทยากร เชียงกูล ฉะสังคมไทยมีทรัพยากรมาก คนมาก แต่ขาดปัญญา
กับจิตเพื่อส่วนรวม เปิดตำราสอนรัฐบาลมองปัญหาความยากจน อย่ามองแค่ปรากฏการณ์ ต้องลงลึกถึงโครงสร้าง มิเช่นนั้นปัญหาก็จนวนเวียนอยู่เหมือนเดิม
เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย” ในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 25 ปี ถึงความหมายของคำว่า ปฏิรูปประเทศว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กๆน้อยๆ แต่เป็นน้องๆ ปฏิวัติหรืออภิวัฒน์ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่และสันติวิธี“เราต้องมองสังคมเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ เช่น การมองปัญหาความยากจนหากไม่เข้าใจโครงสร้างว่าอะไรทำให้เกิดความยากจนก็จะมองแบบปรากฏการณ์ ทำแบบประชานิยมช่วยเพิ่มรายได้ แล้วก็ทำให้เป็นหนี้มากขึ้น วนเวียนอยู่อย่างนี้” รศ.วิทยากร กล่าว
คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ตัวระบบที่สำคัญ คือ ระบบเศรษฐกิจการเมือง การมองปฏิรูปไปเรื่องแก้กฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญได้แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ พยายามปฏิรูประบบราชการ ระบบเศรษฐกิจ และระบบต่าง ๆ มีวิธีป้องกันคนโกง โดยใส่ไว้ในโครงสร้างการปฏิรูปประเทศทั้งหมด อาทิ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือฮ่องกง มีการคอร์รัปชันมากกว่าบ้านเรา ยากจนกว่าเรา แต่ปัจจุบันนี้บ้านเมืองเขาพัฒนาอย่างก้าวหน้า
"เราไม่สามารถป้องกันคนโกงได้ ต้องสร้างระบบที่ป้องกันการโกง และคิดต่อได้ว่าระบบใดที่จะส่งเสริมคนโกงน้อยที่สุด เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธี ซึ่งปัญหาหลักของไทยคือการเดินตามตะวันตกมากเกินไป จนเป็นระบบเสรีนิยม หรือที่คนไทยเรียกว่า ระบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวาร"รศ.วิทยากร กล่าว และว่า คำว่าเสรีนิยม ตลาดการค้าเสรี โลกาภิวัฒน์ เป็นคำที่ทำให้ดูดี ของจริงไม่ใช่ ในโลกของความเป็นจริง คนรวยก็ยังมีเสรีภาพมากกว่าคนจน สิทธิเสรีภาพตามความหมายของกฎหมาย คือ ทั้งคนรวยและคนจนมีเสรีภาพที่จะนอนใต้สะพาน วิ่ง และลักขโมยขนมปังได้เท่ากัน แต่คนรวยไม่จำเป็นที่จะต้องทำ ในขณะที่คนจนต้องทำเพราะไม่มีทางเลือก
รศ.วิทยากร กล่าวอีกว่า การจะปฏิรูปประเทศไทยให้ได้นั้น รัฐบาลจะต้องคิดในเชิงเปลี่ยนแปลงทั้งสังคมและระบบเศรษฐกิจ ควรเน้นเรื่องทำให้ทุนนิยมมีการแข่งขันที่เป็นธรรม เก็บภาษีคนรวยสูงหน่อย มาทำรัฐสวัสดิการ สังคมสวัสดิการ เช่น สวีเดนเก็บภาษีได้ประมาณ 30-40 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ไทยเก็บได้แค่ 18 % หากยังไม่กล้าเก็บภาษีคนรวยก็ไม่สามารถทำสวัสดิการได้ ทำได้แค่ประชานิยม ซึ่งเรื่องภาษีต้องคิดอย่างจริงจัง มีวิธีคิดหลายอย่างที่จะปฏิรูป ไม่ใช่เพื่อรายได้อย่างเดียว แต่เพื่อทำให้เศรษฐกิจสังคมดีกว่านี้
“สังคมไทยมีทรัพยากรธรรมชาติมาก คนมาก สิ่งที่ขาดคือปัญญา กับจิตเพื่อส่วนรวม การศึกษาของเราไม่ใช่แค่หลงทาง แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนชั้นสูงในการที่จะรักษาระบบคนชั้นสูงซึ่งมีเพียงส่วนน้อยได้เปรียบคนส่วนใหญ่ต่อไป” รศ.วิทยากร กล่าว และว่า ปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ปัญหาซับซ้อน มีการเอาเปรียบกันมาก หากไม่พัฒนาสติปัญญาอย่างจริงจัง การศึกษาไม่พัฒนาการจัดตั้งประชาชนอย่างจริงจัง ไม่มีความคิดก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงสังคม ประเทศจะตกต่ำมากกว่านี้ สำหรับทางออกในระยะยาวของการแก้ไขปัญหาของประเทศทั้งหมด คือ การให้การศึกษาประชาชน ที่ไม่ใช่เพียงแค่ให้การศึกษาทางวิชาการ หรือวิชาชีพ แต่ต้องให้การศึกษาในหน้าที่ของพลเมือง ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ ก็จะไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาล