บิ๊กยธ.อึ้งการทุจริตภาครัฐพัฒนาขึ้น
จากเงินใต้โต๊ะ กินบนโต๊ะ สู่การทุจริตที่ชอบด้วยกฎหมาย “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ระบุปัจจุบันมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการทุจริต ร่วมมือกันโกงทุกระดับ เห็นชัดการเซ็นสัญญาให้ได้เปรียบ
วันนี้ (21 ม.ค.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 จัดโดยชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต สมาคมธนาคารไทย หัวข้อ “เทคโนโลยีและมาตรฐานการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต” ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี โดยเห็นว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตเป็นแค่เครื่องมือช่วยทำงานเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดต้องเน้นเรื่องจริยธรรม คุณธรรมให้กับคนในองค์กร โดยเฉพาะ ปฏิรูปจิตสำนึกรับผิดชอบต่อการทำงาน ต่อหน้าที่ ต่อลูกค้าจะสามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างครบวงจร
รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า วันนี้เราไม่ได้ยินคำว่าเงินใต้โต๊ะแล้ว เพราะการทุจริตโดยเฉพาะภาครัฐมีการพัฒนาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เรียกว่า กินกันบนโต๊ะ จากแต่ก่อนกฎหมายเป็นเครื่องมือในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น ปัจจุบันใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการทุจริตเสียเอง เป็นการทุจริตที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การเซ็นสัญญาให้ได้เปรียบ ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมกำลังพัฒนาออกกฎหมายมากำกับดูแลการทำสัญญาภาครัฐ ตรงจุดนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก
“การทำสัญญาแบบนี้ได้ เป็นการร่วมมือกันโกงทุกระดับ สมัยก่อนฝ่ายนโยบายโกงเฉพาะฝ่ายนโยบาย ฝ่ายประจำโกงเฉพาะฝ่ายประจำ ปัจจุบันพัฒนาขึ้นฝ่ายนโยบายฝ่ายประจำช่วยกันโกง ทำให้โอกาสพิสูจน์หาความผิดเป็นไปได้ยาก ทุกอย่างถูกต้องหมด นี่คือพัฒนาการภาครัฐในการโกง” นายพีระพันธุ์ กล่าว และว่า ภาคเอกชนก็ไม่ต่างกัน หนึ่งปีที่ผ่านมามีข่าวแวดวงธนาคารทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับภาคราชการหรือการเมืองก็ไม่ได้น้อยหน้า สถาบันการเงินมีวงเงินการทุจริตหลายร้อยล้านบาท ต่างกันที่บทลงโทษภาครัฐมีความผิดถึงขั้นติดคุก แต่ภาคเอกชนเมื่อเกิดการฉ้อโกงไม่มีความผิดติดคุก ความผิดโทษไม่สูง ยกเว้นธนาคารของรัฐที่มีกฎหมายกำกับ
เมื่อเปรียบเทียบเรื่องการบริหารจัดการปัญหาการทุจริต รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความพร้อมมากกว่า สามารถสั่งซื้อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ ต่างจากภาครัฐที่ไม่ได้ลงทุน แต่จะใช้มาตรฐานหรือมาตรการในการป้องกันการทุจริตแทน ซึ่งก็จะพบว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะฉลาดล้ำเลิศหรือก้าวหน้าแค่ไหน ก็ไม่ได้เก่งไปกว่าสมองมนุษย์ ดังนั้น เทคโนโลยีจึงเป็นแค่เครื่องมือช่วยทำงาน ไม่ได้แปลว่าจะสามารถป้องกันการฉ้อโกงได้ทั้งหมด
“การทุจริตเป็นเหมือนมะเร็งร้ายในองค์กร หากปล่อยให้ลุกลามจะนำความเสียหายมาสู่ระบบ ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกัน ภาคเอกชนควรร่วมมือกับภาครัฐ เชื่อมข้อมูลกันป้องกันปัญหาการประพฤติมิชอบ สิ่งที่สำคัญคือ คุณธรรม จริยธรรม มาตรฐานของบุคลากรในการมีสำนึกรับผิดชอบต่อการทำงาน ต่อหน้าที่ ต่อลูกค้า จะช่วยป้องกันการทุจริตได้อย่างยั่งยืน ”
นายพีระพันธุ์ ได้ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้าย กรณีบัตรเครดิตที่มีการทุจริตทุกรูปแบบ ธุรกิจบัตรเครดิตเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2502 กว่า 50 ปีในเชิงธุรกิจพัฒนาไปมาก แต่กลับไม่มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต มากำหนดแนวทางหรือใช้เป็นเครื่องมือ เวลานี้จึงใช้กฎหมายเปรียบเทียบ หยิบกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา มาเปรียบเทียบ “บัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่แปลกอยู่มานานครึ่งศตวรรษแต่ไม่มีกฎหมายดูแล ด้านผู้บริโภคร้องถูกเอาเปรียบ ขณะที่ผู้ประกอบการถูกโกงถูกขโมยบัตรมีความเสียหายต่อธุรกิจ แต่ก็ไม่เคยมีใครเรียกร้องให้มีกฎหมาย”