ใช้หลัก 3เหลี่ยมทำ3อย่างแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ
หมอวิชัย จี้รัฐเร่งเปลี่ยนสถานะแรงงานข้ามชาติเป็นพลังในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ หวั่นหากยังไม่มีการจัดการดูแลให้ดี บุคคลกลุ่มนี้จะกลายเป็นปัญหาของสังคม
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2552 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ร่วมกับแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และศูนย์การพัฒนาสังคม หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ(ANM) ร่วมจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากล ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวปาฐกถาเรื่อง “การอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณค่าระหว่างประชากรไทยกับประชากรข้ามชาติ: ศักยภาพใหม่ในการขับเคลื่อนสังคมไทย” โดยสร้างจิตสำนึกใหม่ให้คนไทยยอมรับว่า มนุษย์ทั้งโลกเป็นพี่น้องกัน อ้างอิงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีการพิสูจน์แน่นอนแล้วว่ามนุษย์ไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ ลัทธิความเชื่อใด มีต้นกำเนินมาจากแหล่งเดียวกัน มนุษย์คนแรกถือกำเนิดในทวีปแอฟริกาแล้วอพยพมาทางแถบเอเชีย ยุโรปและได้กระจายไปทั่วโลก
“ต้องเข้าใจคำว่ารัฐชาติ เกิดในโลกเมื่อ 200 กว่าปี ทั้งที่มนุษย์เกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้ว และเมืองไทยรัฐชาติเพิ่งเกิดขึ้น 100 กว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ยุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ประชาชนเคลื่อนย้ายข้ามรัฐชาติเป็นเรื่องธรรมดา ทุนก็ข้ามชาติ แรงงานก็ข้ามชาติ และจะเกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้น ซึ่งต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ให้มาก ไม่สามารถปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยต้องใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นโอกาสสร้างสรรค์ชาติสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมที่สันติสุขเจริญก้าวหน้า ต้องมองคนทุกคนในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกันหมด ใช้หลักมนุษยธรรมเป็นที่ตั้ง”น.พ.วิชัย กล่าว
รองประธานสสส.กล่าวถึงการที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติให้สำเร็จว่า ต้องใช้หลักสามเหลี่ยมทำสามอย่างควบคู่กัน คือ ต้องมีการผลักดันด้านนโยบาย ผลักดันทางสังคมโดยทำให้สังคมรับรู้ปัญหาว่าคืออะไรจะแก้อย่างไร และผลักดันการรณรงค์เรื่องความรู้ นอกจากนี้ภาคสื่อมวลชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
“ปัญหาแรงงานที่อพยพเข้ามาถ้าไม่มีการจัดการดูแลแก้ไขปัญหานี้ให้ดี บุคคลกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาของสังคม ก่ออาชญากรรม แต่ถ้ามีการจัดการเป็นอย่างดีก็จะเปลี่ยนเป็นพลังของสังคมได้ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้สถานะแรงงานข้ามชาติเป็นพลังในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศไม่ก่อปัญหาสังคม”รองประธานสสส.กล่าว พร้อมยกตัวอย่างหน่วยงานต่างๆที่พยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ อย่างเช่นกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมร่างกฎหมายระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการศึกษาให้แก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีทะเบียนราษฎรโดยองค์กรเอกชนในศูนย์การศึกษาต่างด้าว และกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการออกกฎหมายทะเบียนราษฎรแก้ไขเพิ่มเติมจากของเดิมของเมื่อปีที่ผ่านมา มีการจดทะเบียนคนไม่มีสัญชาติแต่จะจดเพื่อเป็นหลักฐานว่า แรงงานที่เข้ามาไม่ใช่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย แต่มีหลักฐานเพื่อยืนยันว่าได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย
ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีความพยายามที่จะทำให้คนไม่มีสัญชาติได้มีสิทธิในการรักษาพยาบาลโดยถูกต้อง ขณะนี้การรักษาพยาบาลได้รักษาตามหลักมนุษยธรรม แต่จะทำอย่างไรให้สิทธิโดยถูกต้องเพิ่มขยายสิทธิมากขึ้น รวมทั้งสสส.ก็มีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลด้วย
ด้านดร.สุเมธ ฤทธาคนี ประธานคณะกรรมาธิการ การแรงงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานในชาติและนำเข้าแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะจากเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา เพื่อเข้ามาเป็นแรงงานระดับล่างสนับสนุนการเจริญเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจได้พาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ทางคณะกรรมาธิการ การแรงงานสภาผู้แทนราษฎรได้ติดตามข้อมูลตัวเลขแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา จากสำนักงานบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 รวม 1, 656,144 คน จังหวัดที่มีแรงงานกลุ่มนี้สูงสุดคือ กรุงเทพฯจำนวน 267,389คน รองลงมาคือจังหวัดสมุทรสาครจำนวน 158,620 คน ในขณะที่ตัวเลขขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้คาดการณ์จำนวน 2 ล้านคนในปีเดียวกัน ดังนั้นรัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติอีก 700,000 คนและได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลพม่าในการทำให้แรงงานเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย และให้แรงงานที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติกลับประเทศต้นทางทั้งหมด
“น่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์การพิสูจน์สัญชาติที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะแรงงานชาวพม่าที่มีความกังวลใจหลายด้าน เช่น ความไม่ปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว ความไม่มั่นใจต่อกระบวนการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ และปัญหาประชาธิปไตยในพม่า”ดร.สุเมธ กล่าว