พม.ขยับระดมสมองแก้จุดอ่อนการวัดผลพัฒนาที่ตัวเลขศก.
รมว.พม. กล่าวถึงแนวคิดคุณภาพสังคมและตัวชี้วัดคุณภาพสังคม ว่า เป็นแนวคิดที่นักวิชาการในกลุ่มประเทศแถบยุโรปพัฒนาขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขจุดอ่อน และสร้างดุลยภาพระหว่างการวัดผลการพัฒนาที่มุ่งเน้นตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว มาเน้นตัวชี้วัดทางด้านสังคมประกอบด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการประชุมรัฐมนตรีทางด้านสังคมของอาเซียน ที่เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับมิติทางด้านสังคมว่าเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้ด้านเศรษฐกิจเช่นกัน
นายอิสสระ กล่าวถึงการประยุกต์แนวคิดคุณภาพสังคมว่า มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับตัวชี้วัดในกลุ่มนี้มีข้อได้เปรียบหลายประการ อาทิ ความครอบคลุมของตัวชี้วัดที่แบ่งออกเป็น 4 มิติ ได้แก่ 1) มิติด้านความมั่นคงและความไม่มั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ 2) มิติด้านการครอบคลุมของบริการทางสังคม 3) มิติด้านความสมานฉันท์ทางสังคม และ 4) มิติด้านการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นแก่บุคคลหรือชุมชน
“อีกประการหนึ่ง คือ ตัวชี้วัดนี้ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในหลายประเทศทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย ทำให้สามารถนำมาเปรียบเทียบระหว่างกันได้ ซึ่งแตกต่างกับตัวชี้วัดที่กระทรวงดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ ตัวชี้วัดสังคม หรือตัวชี้วัดเฉพาะอื่นๆ ที่ดำเนินการเก็บข้อมูลเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น” นายอิสสระ กล่าว และว่า การประชุมครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการประยุกต์แนวคิดดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงและสถาบันทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันดำเนินงานศึกษาวิจัย เก็บข้อมูล และเผยแพร่ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญ แนวคิด ข้อเสนอแนะที่เกิดขึ้นจากเวทีการประชุมนี้ กระทรวง และผู้แทนจากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศต่าง ๆ ต่อไป