ผลวิจัยพบเด็กมีต้นทุนชีวิตน้อย เสี่ยงทำความผิด
ทั้งเรื่องยาเสพติด เพศสัมพันธ์ ความรุนแรง หน.คลินิกเพื่อนวัยทีน ชี้สังคม ไทยแก้ปัญหาแบบล้อมคอก ลืมสร้างปัจจัยสร้างภูมิคุ้มกัน แนะบ่มเพาะ5 พลังต้นทุนชีวิตให้เด็ก-เยาวชน
เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลเยาวชนและครอบครัว สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์สังกัดศาลยุติธรรม กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จัดเสวนาหัวข้อ “เปิดหัวใจไขปัญหา” ในงานประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องประชุมจตุรทิศ โรงแรมเรดิสัน รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมีนายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี นางทิชา ณ นคร ร่วมเสวนา โดยเห็นว่า สังคมไทย แก้ปัญหาเด็กและเยาวชนแบบล้อมคอก เหตุที่เด็กต้องหลงกระทำผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพราะสังคมลืมบ่มเพาะต้นทุนชีวิตที่ดีให้ อีกทั้งสิ่งแวดล้อมในสังคมก็รุมเร้าสาปเด็กกลุ่มมีปัญหา
นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน หัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เด็กและเยาวชนกระทำความผิดว่า มาจาก 2 ส่วน คือ ตัวเด็กที่ขาดต้นทุนชีวิตที่ดี และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสังคม กำลังรุมเร้าเด็กและเยาวชนไทย ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาก็ทำแบบวัวหายแล้วล้อมคอก ทำระยะสั้น ออกมาตรการ กฎหมาย กติกาต่างๆ เพียงแค่ลดปัจจัยเสี่ยง ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาวด้วยการมุ่งสร้างปัจจัยสร้างเสริมต้นทุนชีวิตให้เด็ก ซึ่งควรใช้หลักขจัดร้าย ขยายดี ทำให้ครบทั้งระบบ ไม่ควรมองปัญหาแค่ที่ตัวเด็ก
เรื่องวิธีสร้างต้นทุนชีวิตให้เด็กและเยาวชนนั้น ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ต้องสร้าง 5 พลังต้นทุนชีวิต คือ 1.ต้องสร้างพลังในตัวเด็กให้เห็นคุณค่า ภาพลักษณ์ของตน และมีทักษะสังคม 2.พลังครอบครัวต้องสร้างความรัก ความอบอุ่น ปิยวาจา วินัย และต้องเป็นกำลังใจให้เด็ก 3.การสร้างพลังสร้างปัญญา สร้างความรู้ทั้งในและนอกตำราให้เด็กแก้ปัญหาในชีวิตจริงเป็น ไม่ใช่เพียงเรียนเก่งอย่างเดียว 4.สร้างพลังเพื่อนและกิจกรรม และ5.พลังชุมชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังร่วมสอดส่องพฤติกรรมเด็ก
“จากการวิจัยพบว่า เด็กที่มีต้นทุนชีวิตน้อยจะมีภาวะเสี่ยงมากต่อการกระทำความผิด ทั้งเรื่องยาเสพติด เพศสัมพันธ์ และความรุนแรง ดังนั้นการสร้างต้นทุนชีวิตให้เด็กต้องบูรณาการงานเด็กและเยาวชนเข้ากับงานด้านครอบครัว ต้องให้เด็กรู้จัดการอารมณ์และอยู่กับครอบครัวได้อย่างเป็นสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นเป็น เมื่อเด็กได้รับต้นทุนที่ดีก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เติบโตมีลูกก็จะรู้จักเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่มีต้นทุนชีวิตที่ดี เรียกว่าเป็นขบวนการในการสร้างประเทศ”ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน กล่าว
นพ.สุริยเดว กล่าวถึงการทำงานด้านเด็กและเยาวชนว่า ต้องทำงานแบบเข้าใจและได้ใจเด็กจริงๆ คือ 1.รู้จักฟังเสียงเด็กและเยาวชน รับเสียงสะท้อนจากหัวใจของเด็ก ว่าแท้จริงแล้วต้องการอะไร และต้องฟังตั้งแต่ปฐมวัยไม่ใช่เฉพาะช่วงวัยรุ่นนั้น 2.ต้องรู้กายภาพและทักษะของพ่อแม่ นอกจากเจ้าหน้าที่ต้องรู้สถานภาพทางครอบครัวของเด็กแล้ว ยังต้องรู้ทักษะความเป็นพ่อแม่ของพ่อแม่เด็กด้วย เพื่อเยียวยาครอบครัวเด็กได้ถูกต้อง 3.ต้องอดทนในการที่จะเข้าถึงจิตใจเด็ก4.พ่อแม่เด็กช่วยทำให้ลูกที่เคยผิดพลาดได้กลับสู่สังคมอีกครั้งได้ โดยต้องรู้จักฟังลูกให้เป็นเพื่ออ่านความคิด ต้องมีความรักและเอื้ออาทรต่อลูกทั้งสายตาและวาจา และจำไว้เสมอว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพมีคุณค่าเสมอกันไม่ว่าจะเคยทำความผิดหรือไม่ก็ตาม
ด้านนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงตัวระบบการศึกษาไทยว่า ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อติดอาวุธทางปัญญาหรือสร้างต้นทุนชีวิตให้เด็กและเยาวชน มุ่งสร้างเด็กให้เก่ง แต่ปรับใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ เด็กแก้ปัญหาในชีวิตจริงไม่เป็น แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ ในการปฏิเสธบางอย่างที่ไม่ดี เช่น แฟนหนุ่มขอมีเซ็กส์ด้วย เด็กก็ไม่กล้าปฏิเสธ เพื่อนชวนไปกินเหล้าก็ไม่กล้าปฏิเสธ ซึ่งต้องเข้าใจว่าต้นทุนชีวิตเหล่านี้ต้องมาจากการบ่มเพาะที่เพียงพอ
“วันนี้เราต้องพัฒนาบุคลากรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ต้องซ่อมความคิดให้สังคมเลิกสาปเด็กๆ ที่ไม่มีพ่อแม่ ที่มาจากครอบครัวที่หย่าร้าง และเลิกสาปเด็กที่เคยกระทำผิด เลิกตอกย้ำความคิดผิดๆ ที่จำกัดต้นทุนชีวิตที่ดีให้แก่เด็กกลุ่มนี้ เราจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิดมีความคิดใหม่ที่ถูกต้อง ไม่จมอยู่ในอดีต ไม่ตอกย้ำคำสาปเหล่านี้ เพื่อให้เราสามารถสร้างเด็กให้มีทุนต้นที่พร้อมกับสู่สังคม”นางทิชา กล่าว