ศิลปินอีสานจี้รัฐกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมการเสพศิลปะ
‘สุมาลี สุวรรณกร’ สรุป 6 ข้อเสนอจัดสมัชชาศิลปินใน 4 สาขาภาคอีสาน มีทั้งขอพื้นที่โชว์ผลงาน ผลักดันวาระการอ่านในระดับหมู่บ้าน ให้สอดแทรกเรื่องศิลปวัฒนธรรมเข้าไปอยู่ในระบบการเรียนการสอนอย่างจริงจัง
นางสุมาลี สุวรรณกร ประธานอนุกรรมการเครือข่ายศิลปินระดับภูมิภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ในคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป กล่าวกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ถึงการจัดสมัชชาเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูประดับภูมิภาค ซึ่งได้เปิดเวทีรับฟังข้อเสนอไปเมื่อวันที่ 14 - 15 มกราคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมขวัญมอ จ.ขอนแก่น โดยมีศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูป เดินทางมาเป็นประธานและปาฐกถาพิเศษว่า มีศิลปินที่มาร่วมกว่า 180 คน จาก 4 สาขา ได้แก่ คีตศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ ซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นชอบให้ก่อตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายศิลปินระดับภูมิภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยมุ่งเน้นให้เป็นองค์กรอิสระ แต่รัฐบาลจะต้องหางบประมาณมาสนับสนุน รวมทั้งผลักดันในการจัดตั้งสมัชชาศิลปินภาคอีสาน
นางสุมาลี กล่าวถึงข้อเสนอหลักที่เป็นการสรุปรวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งหมด 6 ข้อ ข้อแรก ให้ภาครัฐเข้ามาดูแลด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างจริงจัง และเสนอให้สอดแทรกเรื่องของศิลปวัฒนธรรมเข้าไปอยู่ในระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษา รวมทั้งการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เข้าถึงคนในท้องถิ่นอย่างจริงจังมากกว่าเดิม ข้อที่สอง จัดตั้งสมัชชาศิลปินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรสำคัญในการประสานงานกับคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนศิลปินในแต่ละสาขา โดยต้องเป็นองค์กรอิสระ ที่สามารถกำหนดนโยบาย รูปแบบ วิธีการทำงานเองได้ และไม่ขึ้นตรงหรือสังกัดกับหน่วยงานใด แต่ภาครัฐต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อสามารถสร้างกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมให้ลงลึกระดับชุมชนได้
“ข้อที่สาม สนับสนุน ส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมการเสพศิลปะ และการอ่านอย่างเป็นระบบ ข้อที่สี่ จัดทำแผนเชิงนโยบายที่ชัดเจน โดยให้ศิลปินทุกแขนง ตลอดจนเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วม มีบทบาทในการกำหนดทิศทาง รวมถึงกิจกรรมที่จะได้ทำงานร่วมกัน ข้อที่ห้า ส่งเสริมให้มีพื้นที่สาธารณะ สำหรับจัดแสดงผลงานของศิลปินทุกแขนง และเป็นกิจกรรมที่หลากหลายรูปแบบให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้หลากหลาย รวมทั้งให้มีการพัฒนาความรู้ และหลักสูตรของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาที่เน้นศิลปะและภูมิปัญหาท้องถิ่นให้ครูภูมิปัญญา หรือปราชญ์ชาวบ้านได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ ที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นศิลปวัฒนธรรมที่แท้จริงให้คนรุ่นใหม่ได้ และข้อที่หก การจัดสวัสดิการให้กับศิลปิน เพื่อให้ศิลปินสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และได้รับข้อมูลข่าวสารมากกว่าที่เคยเป็นอยู่”
นางสุมาลี กล่าวถึงข้อเสนอของศิลปินใน 4 สาขา ต่อว่า สาขาทัศนศิลป์ ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากมาจากสมาคมศิลปินอีสาน มีข้อเสนอว่า จะผลักดันให้มีสมัชชาศิลปินทัศนศิลป์ของภาคอีสาน เรียกร้องให้มีพื้นที่ ให้มีหอศิลป์ หอการแสดงผลงานทัศนศิลป์ประจำจังหวัด ให้ศิลปินในพื้นที่สามารถนำผลงานมาแสดงได้ และการลงลึกในระดับชุมชน เพื่อให้ประชาชนหันมาเสพศิลปะแขนงนี้มากขึ้น ซึ่งสามารถนำมาบูรณาการร่วมกับสาขาอื่นๆ ส่วนสาขาวรรณศิลป์ เสนอที่จะผลักดันวาระการอ่าน ให้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
“หากไม่มีคนอ่าน คนเขียนก็ไม่รู้จะเขียนไปทำไม จึงอยากส่งเสริมเรื่องกระบวนการอ่าน และกระบวนการเขียนในระดับหมู่บ้าน ให้มีการจัดตั้งที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน จากเดิมที่เป็นเพียงที่นั่งเล่น เพราะขาดแคลนเรื่องงบประมาณ ดังนั้น หากข้อเสนอ หรือประเด็นต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ผ่านในเวทีการประชุมสมัชชาแห่งชาติที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ทางเครือข่ายฯ ก็จะขับเคลื่อนกันเอง เพราะในปัจจุบันก็ผลักดันวาระการอ่านและการเขียนอยู่ก่อนแล้ว แต่หากรัฐบาลให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ ให้งบประมาณมาใช้จ่ายในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็จะสะดวกขึ้นอีก”
อย่างไรก็ตาม สำหรับสาขาคีตศิลป์ หรือดนตรีพื้นบ้าน นางสุมาลี กล่าวว่า มีข้อเสนอที่คล้ายกับสาขาศิลปะการแสดง ว่า หมอรำ หรือการแสดงพื้นบ้าน ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากภาครัฐมากนัก หลังจากที่ภาครัฐมีการตั้ง “ครูภูมิปัญญาไทย” ของกระทรวงวัฒนธรรมเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แต่พอตั้งแล้วก็ไม่หางานให้ทำ ไม่เคยส่งเสริมอย่างจริงจัง
“ครูภูมิปัญญาเหล่านี้จึงมีข้อเสนอว่าอยากจะมีบทบาทในเรื่องการเรียนการสอน หากกระทรวงศึกษาธิการสามารถผลักดันให้กลุ่มครูเหล่านี้ได้ไปเป็นครูภูมิปัญญาอย่างแท้จริง มีบทบาทในการสอนเด็กในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเขาก็จะมีคุณค่ามากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะมีแนวคิดว่า “เงิน” ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แต่การถ่ายทอดภูมิความรู้ให้รุ่นลูก รุ่นหลานเป็นสิ่งสำคัญกว่า”