“เตือนใจ ดีเทศน์” เสนอใช้“ดัชนีโลกมีสุข” ปฏิรูปประเทศให้น่าอยู่
หลังพบดัชนีความสุขของคนไทยอยู่อันดับที่ 41 ย้ำชัด “ดัชนีโลกมีสุข” เป็นการปฏิรูปทั้งโลกให้น่าอยู่ แทนการพัฒนาประเทศที่ยึดแต่ตัวเลข จีดีพี มองการปฏิรูปวันนี้ ต้องร่วมกันตั้งเป้าหมายเปลี่ยนประเทศก่อน ว่าจะนำไปสู่สิ่งใด หวั่นหากไร้ทิศทางจะทำให้ประเทศเดินตกเหว
เมื่อเร็วๆ นี้ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสมัชชาปฏิรูป ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข้อมูลข้่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ถึงแนวคิดดัชนีความสุขกับการพัฒนาประเทศ ว่า ดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH: Gross National Happiness) เป็นดัชนีทางเศรษฐศาสตร์แนวใหม่ ที่ใช้วัดความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ เกี่ยวข้องกับนโยบาย ทิศทาง การพัฒนาประเทศ และเกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นการพัฒนาประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เพราะลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรให้ได้ประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด สร้างความสุขและความพึงพอใจให้ประชาชน รวมถึงเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยของประชากรด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปโดยตรง
“องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มีความมีความพยายามค้นหามาตรวัดใหม่ ในการบ่งชี้ถึง ความเป็นอยู่ที่ดี หรือดัชนีความสุข แทนการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP : Gross Domestic Product ) ที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกใช้กัน นวัตกรรมใหม่ ที่กลุ่มมูลนิธิเศรษฐกิจใหม่ หรือ เนฟ (the new economics foundation-nef) ได้คิดค้น คือ ดัชนีโลกมีสุข (the happy planet index:HPI) ขึ้นมา เพื่อประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศวิทยาของประชากรแต่ละประเทศ ในการบรรลุเป้าหมายของการมีชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุข”
นางเตือนใจ กล่าวว่า ดัชนีโลกมีสุข เป็นการนำแนวคิดเศรษฐศาสตร์แนวใหม่ที่ไม่ได้มุ่งใช้เพียงตัวเลขจีดีพี มาวัดความสำเร็จของการพัฒนาประเทศเท่านั้น แต่สร้างขึ้นจากตัวชี้วัด 3 องค์ประกอบ คือ อายุขัยเฉลี่ยของประชากร (life expectancy) ซึ่งวัดผลกระทบด้านสุขภาพ,รอยเท้าทางนิเวศ (ecological footprint) ซึ่งเป็นวิธีการวัดผลกระทบของกิจกรรมของมนุษย์ต่อโลก จากการใช้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และความอยู่ดีมีสุขและความพึงพอใจในชีวิตของประชากร (life satisfaction)
“ที่ผ่านมาประเทศไทยรวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของประเทศที่ใช้ดัชนีชี้วัดที่เป็นตัวเลขจีดีพีเป็นตัวตั้ง เน้นความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แต่ไม่คำนึงถึงรอยเท้านิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยว บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ภาคอีสานที่ปลูกมันสำปะหลัง จนทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศเสียสมดุล เป็นต้น” นางเตือนใจ กล่าว และว่า การปฏิรูปประเทศถ้าไม่มีเป้าหมาย ให้ชัดก่อนว่า การปฏิรูปประเทศจะนำไปสู่สิ่งใด ก็จะทำให้ประเทศเดินตกเหว ไร้ทิศทาง ในการพัฒนา ซึ่งการเจริญเติบโตที่ดีคือการเจริญเติบโตที่ควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตของประชากรที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ นางเตือนใจ กล่าวถึงผลรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดัชนีความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองในประเทศต่างๆ 143 ประเทศทั่วโลก ที่จัดทำโดยเนฟ เมื่อปี ค.ศ.1990-2005 พบผลที่น่าสนใจ ประเทศคอสตาริก้ามีค่าดัชนีความสุขสูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก หรือ 76.1 จาก 100 คะแนน เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรนิเวศในระดับที่น้อยมาก แต่ใช้แล้วเกิดประโยชน์คุ้มค่าสร้างความสุขและความพอใจ รวมถึงช่วยเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยของคนในชาติอยู่ในระดับที่สูงมาก ขณะที่กลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่า มีดัชนีความสุขต่ำสุด เช่น ประเทศซิมบับเวดัชนีอยู่ที่ 16.6
ส่วนประเทศกลุ่มประเทศพัฒนาและร่ำรวยพบอยู่ในดัชนีระดับกลาง เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์อยู่อันดับที่ 43 ของโลก, อังกฤษอันดับที่ 74, สหรัฐอเมริกาอันดับที่ 114 ส่วนประเทศไทยอันดับที่ 41 ค่าดัชนีอยู่ที่ 50.9 ยังพบด้วยว่าประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวในดัชนีนี้ลดลงทั้งหมด ทั้งนี้ประเทศทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมภายในปี ค.ศ.2050 จะลดการใช้ทรัพยากรและการปลดปล่อยแก็สคาร์บอนไดออกไซด์ลง 80% ด้วย