เปิดเวทีสิทธิเด็กระดับชาติ รับฟังปัญหาในมุมมองเยาวชน
รมว.พม.แนะสภาเด็กเข้มแข็งนำแก้ปัญหาสังคมได้ตรงจุด เตรียมเสนอ อบต. ให้งบสนับสนุนอย่างจริงจัง พร้อมติงสื่อใช้วิจารณญาณในการนำเสนอข่าว ด้านสมชาย แสวงการ เผยแม้เด็กมีสิทธิขั้นพื้นฐานครบ ก็ยังพบการละเมิดสิทธิเด็กอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 20 พ.ย. คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา, คณะทำงานด้านเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดโครงการเวทีสิทธิเด็กครั้งที่ 21 ภายใต้หัวข้อ “การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิเด็ก” ณ อาคารรัฐสภา โดยนางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา กล่าวต้อนรับคณะทำงานว่า การคุ้มครองสิทธิเด็กให้ครบองค์ประกอบตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนั้น (การอยู่รอด, การพัฒนา, การปกป้องคุ้มครองและการมีส่วนร่วม) จะนำไปสู่การสร้างชาติที่เข้มแข็ง เพราะเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาทุกๆด้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ภายในงานมีตัวแทนเด็กและเยาวชน 4 คนนำเสนอผลงานจากการระดมความคิดเรื่อง “การส่งเสริมสนับสนุนและแก้ไขปัญหาและแนวทางนำเสนอ” ในแต่ละประเด็น ได้แก่ ปัญหายาเสพติด, ปัญหาแม่วัยเยาว์, ปัญหาความรุนแรง (ความรุนแรงในครอบครัว/สื่อกับความรุนแรง/ความรุนแรงของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) และปัญหาทางการศึกษา เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
โดยนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อสนองหลักการสำคัญตามอนุสัญญาฯ 1 ใน 4 ด้าน นั่นคือการมีส่วนร่วมของเยาวชนต่อสังคม ซึ่งทางกระทรวงฯ พยายามขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับเยาวชนหลายเรื่อง อันเป็นงานที่สร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ ในข้อเสนอของเยาวชนทั้ง 4 ข้อนั้น เป็นการเปิดมุมมองของปัญหามุมใหม่ที่บางครั้งผู้ใหญ่อาจจะละเลยไป ซึ่งตนรับปากว่าจะนำข้อเสนอทั้งหมดจัดทำเป็นเอกสารเพื่อเผยแพร่ให้สังคมรับรู้ต่อไป
นายอิสระ กล่าวต่อไปว่า สภาเด็กในปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง แต่มีการรวมตัวกันในระดับจังหวัดซึ่งถือว่ายังเป็นวงกว้างของปัญหา ทั้งนี้ตนได้มีแนวคิดที่จะประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ความสนับสนุนอย่างจริงจังกับสภาเด็ก ในการจัดตั้งกลุ่มสภาเด็กระดับตำบลให้ได้ เพราะตนมีความเห็นว่าปัญหาสังคมที่แท้จริงนั้น มักฝังลึกอยู่รอบตัวเยาวชน จึงต้องให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่เป็นหน่วยย่อยจากระดับจังหวัด เข้าไปช่วยประสานงานในด้านงบประมาณและการมีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการทำงานของสภาเด็ก
“บางครั้งงบประมาณ 50,000 บาท ทาง อบต. อาจสร้างถนนในพื้นที่ได้เพียงแค่ 30 เมตร แต่หากเจียดเงินส่วนนี้ไปสนับสนุนสภาเด็กระดับตำบล ผมเชื่อมั่นว่าส่วนนี้จะคุ้มค่ากว่าการทำถนนแน่นอน เพราะเมื่อเยาวชนเข้มแข็ง ผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถแทรกแซงสิ่งชั่วร้ายเข้าไปในชีวิตพวกวเขาได้” นายอิสระ กล่าว
ทั้งนี้นายอิสระ กล่าวถึงการทำงานของสื่อมวลชนว่า บางครั้งสื่อทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าว จนละเลยเรื่องของสิทธิเด็กไป ไม่ว่าจะเป็น ภาพดารานางแบบแต่งกายไม่เหมาะสมบนหน้าหนังสือพิมพ์ การนำเสนอข่าวความรุนแรงเพียงด้านเดียว ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สามารถยั่วยุทางอ้อมกับเยาวชน อย่างกรณีข่าวแก๊งปาหิน เมื่อเยาวชนได้รับรู้ จึงลอกเลียนแบบการกระทำดังกล่าว จนอุบัติเหตุจากแก๊งปาหินอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่าปัจจุบันมีการดำเนินการเพื่อประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคนแล้ว แต่ยังพบการละเมิดสิทธิเด็กบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้า เด็กปัญญาเลิศ เด็กที่บิดามารดาต้องโทษจำคุก หรือแม้แต่เด็กชายขอบ ฯลฯ มักถูกปล่อยปะละเลยจากสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น การทุบตีหรือล่วงเกินทางเพศ โดยบุคคลในสังคมแวดล้อมและบุคคลภายนอก เวทีครั้งนี้ทำให้เยาวชนมีโอกาสแสดงออกถึงมุมมองใหม่ของปัญหา
ส่วนนายรัชฎะ ศรีบุญรัตน์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า จากเวทีระดับภูมิภาค 4 ภาค จนถึงเวทีระดับชาติในวันนี้ เยาวชนทั่วประเทศได้ปรึกษาหารือกัน จนเกิดเป็นแนวทางการส่งเสริมและแก้ไขปัญหา เพื่อต้องการให้ผู้ใหญ่ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกันคุ้มครองสิทธิเด็กร่วมกัน
ทั้งนี้ภายในงานนอกจากจะมีการเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอจากเยาวชนแล้วนั้น ได้มีการมอบรางวัล “ฑูตพิทักษ์สิทธิเด็กแห่งปี” ประเภทบุคคลจำนวน 7 คน ได้แก่ พระครูโสภณพัฒนานุสิฐ สาขาศาสนา, นายตวง อันทะไชย สาขานักการเมือง, รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สาขาข้าราชการ, นางนภา เศรษฐกร สาขาข้าราชการ, นายแพทย์ประพจน์ เภตรากาศ สาขาเอกชน, นายแพทย์พร พันธุ์โอสถ สาขาพัฒนาเอกชน และนายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ สาขาประชาสังคม ประเภทองค์ส่งเสริมและสนับสนุนพิทักษ์สิทธิเด็ก ปี 2553 จำนวน 2 องค์กร ได้แก่ บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และรายการแบ่งปันรอยยิ้ม บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด