Candidate Zone เมื่อประเทศไทย จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
“ทำไมต้องเป็นพนมรอก บ้านเราด้วย” “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีความจำเป็นจริงไหมสำหรับประเทศไทยขณะนี้” ฯลฯ
หลายคำถามที่ค้างคาใจชาวบ้านในพื้นที่ตำบลพนมรอก อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ที่ ณ เวลานี้ได้ออกมาคัดค้าน หลังการไฟฟ้าฝ่ายฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เข้าไปสำรวจหาสถานที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (Candidate Zone)
การเดินทางมาเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อเท็จจริง ที่รัฐสภา จากที่ได้ยื่นร้องคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 นางพีระจิตร จันทรวรชาติ ตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่ตำบลพนมรอก เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่กฟผ.เข้ามาสำรวจพื้นที่ ชาวบ้านคิดว่า เป็นการสำรวจเจาะหาแหล่งน้ำบาดาล แต่พอรู้ว่า เป็นการสำรวจเพื่อเลือกพื้นที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่านั้น ก็ตกอกตกใจ ถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับกัน
นิวเคลียร์ทำชาวบ้านแตกเป็นสองฝักสองฝ่าย
หลายข้อกังวลปนสงสัย กับคำถามอีกมากมาย พรั่งพรูออกจากปาก ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ตำบลพนมรอก ที่ยึดอาชีพเกษตรกรทำไร่ทำนาเป็นหลัก ทั้งไม่เข้าใจและรอคอยคำอธิบาย ทำไมจะต้องมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่บ้านเกิด แหล่งทำเกษตรกรรม ด้วยความไม่รู้ การจะมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหนือชุมชนกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจะมีมากน้อยแค่ไหน ทั้งเรื่องน้ำเสียและกากของเสียที่จะปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
“ชาวบ้านในพื้นที่มีอาชีพหลัก คือ ทำนา รายได้มาจากสินค้าทางการเกษตร ถ้าเกิดมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้น การปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีก็ต้องเกิดขึ้น ผลที่เกิดจากรังสี เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะรู้มาว่า มีผลร้ายแรงกว่าโรงไฟฟ้าจากพลังงานอื่นๆ ใครจะบอกได้ว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร เกิดข้าวปนเปื้อนรังสี เหมือนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้รับผลกระทบมาก่อน ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วต่อไปข้าวของเราได้รับสารรังสีเข้าไป และเกิดโทษต่อคนกิน อนาคตเราจะเอาข้าวเอาสินค้าเกษตรไปขายให้ใคร ”
นางพีระจิตร ยืนยันว่า สิ่งที่ชาวบ้านอยากได้นั้นไม่ใช่โรงไฟฟ้าฯที่สวยหรู ไม่ใช่ความร่ำรวยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะมีตามมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการสร้างงานที่ทางรัฐบาลพยายามบอกว่า จะได้รับการพัฒนาทางด้านโรงเรียน โรงพยาบาล แต่สิ่งที่อยากได้และอยากรู้มากกว่านั้น คือ จะมีเครื่องมือ หรือมีอะไรมารับประกันว่า จะมีความปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตตามวิถีชนบท หรือจะไม่ไปทำลายชีวิตชาวบ้าน
ไม่เพียงแต่ประเด็นข้อกังวลความปลอดภัย การจัดการเชื้อเพลิงเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจากการแค่ลงไปสำรวจพื้นที่จะสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จนผู้นำหมู่บ้าน ชาวบ้านรวมตัวกันประมาณ 400 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ คนในพื้นที่จากที่เคยมีความสมัครสมานสามัคคีกัน วันนี้ชาวบ้านแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายคัดค้านและสนับสนุน นั่นคือ กลุ่มชาวเมืองที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรม และอาศัยอยู่บริเวณที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า
ประชาชนในพื้นที่โจทย์สำคัญตัดสินใจ Go nuclear
จากความวิตกกังวลของชาวบ้าน ที่มีการคาดการณ์ว่า พื้นที่บริเวณตำบลพนมรอก จะเป็นสถานที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคตนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา มองว่า แม้ว่าในวันนี้จะเป็นเพียงการเริ่มสำรวจหาพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย จนถูกเสียงคัดค้านและทำให้คนในพื้นที่เกิดความหวั่นวิตกก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็นับเป็นเสียงสะท้อนให้ประเทศไทยกลับไปคิดทบทวนและคิดต่อไปว่า พร้อมแล้วจริงหรือกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ หรือประเทศชาติยังคงมีพลังงานทดแทนประเภทอื่นรออยู่ข้างหน้าหรือไม่
“ขณะนี้ไม่อาจบอกได้ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่ และยังไม่ได้บอกว่าจะใช้พื้นที่ที่อำเภอพนมรอกหรือไม่ แต่ระยะเวลานี้ เรากำลังช่วยดูในสิ่งที่เหมาะสม โครงการดังกล่าว ยังไม่มีความเป็นรูปธรรมชัดเจน ในเรื่องของการสร้าง เพียงอยู่ในขั้นตอนการรับฟังข้อคิดเห็นจากชาวบ้านทุกคนในพื้นที่ ซึ่งก็มีเสียงคัดค้านและต่อต้านกันในทุกพื้นที่ถึงพิษภัยที่จะเกิดขึ้น”
เริ่มการสำรวจพื้นที่มีศักยภาพ ก่อนคัดออก
สำหรับการกำหนดพื้นที่ศึกษาจัดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) อธิบายไว้ชัด การกำหนดพื้นที่ศึกษาจัดสร้างต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ หรือติดทะเล ต้องไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนเปลือกโลก ไม่เสี่ยงต่อการเกิดพายุ หรือสึนามิ โดยพบพื้นที่ตอนกลางของประเทศบริเวณใกล้แม่น้ำและตอนใต้ฝั่งอ่าวไทย 14 แห่งจาก 6 จังหวัดมีศักยภาพในการสร้าง ก่อนที่ในอนาคตจะได้คัดเลือกเหลือ 3 แห่งต่อไป
ปัจจุบันการหาสถานที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของ กฟผ.มีความคืบหน้าไปมาก กฝผ.ได้จ้างบริษัท Burns & Roe ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ บริษัท ATT/TEAM ประเทศไทย ลงไปสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพ
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี วิศกรระดับ 11 ตัวแทนจาก กฟผ. ย้อนให้เห็นว่า จากแผนการพัฒนาแห่งชาติที่ทางคณะรัฐมนตรีอนุมัติในปี 2563-2564 ต้องมีพลังงานฐานขนาดใหญ่ จึงพยายามเลือกหาพลังงานมาทดแทน และนิวเคลียร์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้หยิบออกมาใช้ ตอนนี้อยู่ในขั้นของการวางแผนศึกษาให้รอบคอบ และทำความเข้าใจกับภาคประชาชนให้ได้มากที่สุด
“จากที่ กฟผ. เข้าไปสำรวจแล้วทำความเข้าใจเรื่่องมาตรฐานความปลอดภัยกับคนในพื้นที่ เริ่มจากการศึกษาสภาพทางภูมิศาสตร์ให้มีความปลอดภัย อาทิเช่น รอยเลื่อนที่เสี่ยงต่อการเกิดแนวแผ่นดินไหว โครงสร้างชั้นหินที่แข็งแรง หรือแหล่งน้ำที่เหมาะสมเพียงพอต่อการสร้างหอหล่อเย็น ขณะมีการเผาไหม้เตาปฏิกรณ์ เพื่อให้ทาง กฟผ.เตรียมการศึกษารับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว”
และแม้ว่าจะมีการเข้าไปสำรวจพื้นที่ทั่วประเทศด้วยขั้นตอนที่เหมาะสมในการเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ตัวแทนจาก กฟผ. ยอมรับการดำเนินการก่อสร้างจะไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากหลายฝ่าย รวมทั้งการยินยอมจากประชาชน “กระบวนการก่อสร้าง ต้องได้รับการยินยอมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 และต้องมีรายงานการประเมินผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งต้องมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานถึงจะทำการก่อสร้างได้”
งานวิจัยเปิดพื้นที่ติดทะเลเหมาะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
การเลือกสถานที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับว่า เป็นกระบวนการที่สำคัญ เนื่องจากสถานที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า ความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ มีรายงานวิจัยที่น่าสนใจของผศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ เรื่อง “การศึกษาเบื้องต้นสำหรับสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศไทย” สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นำเสนอไว้ในการประชุมวิชาการประเพณีครั้งที่ 13 จัดโดยม.ธรรมศาสตร์ ม.มหิดล กองทัพเรือ และม.เกษตรศาสตร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว
ทีมผู้วิจัยใช้กฎเกณฑ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อกำหนดสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ และข้อกำหนดของประเทศชั้นนำ 8 ประเทศ จากนั้นนำมาประยุกต์ รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของประเทศไทย รวมทั้งใช้เทคนิคแผนที่เชิงซ้อน ประกอบด้วยแนวภูเขาไฟ รอยแยกตัวของเปลือกโลกที่ยังสามารถเคลื่อนที่ได้ ความหนาแน่นของประชากร พื้นที่สงวน ลักษณะภูมิประเทศ แหล่งน้ำ
จนพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เหมาะสมสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีจำนวน 13 พื้นที่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ติดทะเล ไล่ตั้งแต่บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้และภาคตะวันออก ประกอบด้วยพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง สตูล ตรัง กระบี่ พังงา จันทบุรี และตราด บอกข้อมูลมาถึงตรงนี้อาจทำให้ชาวบ้านตำบลพนมรอก โล่งอกไปเปลาะหนึ่งได้บ้าง
แต่ยังไม่หมดงานวิจัยชิ้นนี้ ได้วิเคราะห์ต่อ พบยังมีพื้นที่บางบริเวณเหมาะสำหรับสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้และอยู่ใกล้แหล่งน้ำใหญ่ แต่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เช่นพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ บริเวณบึงบอระเพชร และเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นต้น
ความจำเป็นของการใช้ไฟฟ้ามีอยู่ตลอดเวลา
เมื่อถามว่า แล้วในวันนี้ จำเป็นพอหรือยัง ที่ นิวเคลียร์ จะเข้ามามีบทบาทในการใช้เป็นพลังงานทดแทนเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ในประเทศไทย ดร.ปรีชา การสุทธิ์ นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ให้คำตอบ ว่า ความจำเป็นของการใช้ไฟฟ้ามีอยู่ตลอดเวลา และแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
“ก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในไทย และที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มจะหมดไป ในอีก 15-20 ปี หลังจากไทยใช้พลังงานกันอย่างฟุ่มเฟือย โดยใช้จากก๊าซธรรมชาติมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าสูงถึง 70% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ใช้เพียง 30-40% เท่านั้น ทางเลือกของการตัดสินใจใช้พลังงานอื่นๆ เช่น ถ่านหิน พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานทดแทน จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่การเลือกใช้พลังงานใหม่ในครั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนอันเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”
ถึงแม้ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งการก่อสร้าง การเดินเครื่อง และการควบคุมความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้กันอยู่จะมีการพัฒนาให้มีความปลอดภัยในระดับสูงมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายด้าน เพื่อให้แน่ใจในความปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับของประชาชน
สิ่งท้าทายสุดสำหรับประเทศไทย ขณะนี้ที่ประชาชนยังมีความหวาดกลัว เมื่อใครสักคนจะเอ่ยถึง “นิวเคลียร์” อาจมาจากการที่ยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้าน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ให้กระจายออกไป