อ.นิเทศ จุฬาฯ ชี้การสื่อสารช่วงวิกฤตน้ำท่วม ต้องไม่มีใครถูกลืม
มีเดียมอนิเตอร์ เผยผลการศึกษาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะท้อนผ่านฟรีทีวีในวิกฤติน้ำท่วม พบฟรีทีวีส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้พื้นที่/กลุ่มคนอย่างไม่เท่าเทียม ส่งผลให้กลุ่มคนบางกลุ่มเป็นผู้เสียประโยขน์
วันที่ 30 เมษายน มูลนิธิสื่อมวลขนศึกษา โครงการเสริมสร้างสื่อมวลชนศีกษาเพื่อสุขภาวะ แถลงผลการศึกษาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะท้อนผ่านฟรีทีวีในวิกฤติน้ำท่วม” ในรายการข่าวและรายการพิเศษของฟรีทีวี 6 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 รายการข่าว 3 มิติ, ช่อง 5 รายการจับประเด็นข่าวร้อน, ช่อง 7 รายการประเด็นเด็ด 7 สี, ช่องโมเดิร์นไนน์ รายการข่าวข้นคนข่าว, ช่อง สทท.11 สถานีรวมใจ ช่วยภัยน้ำท่วมและคุยแต่น้ำไม่เอาเนื้อ, ช่องไทยพีบีเอส รายการที่นี่ไทยพีบีเอส, ฝ่าวิกฤตน้ำท่วมช่วงที่ 1,2 และลุยกรุง ซึ่งออกอากาศระหว่างวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2554 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป เพื่อวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะท้อนผ่านฟรีทีวีในวิกฤตน้ำท่วม
โดยประเด็นข่าวที่ทำการศึกษามี 7 ประเด็น ได้แก่ 1. การรายงานสถานการณ์น้ำ 2.การจัดการปัญหาน้ำท่วม 3.ผลกระทบจากสถานการณ์ 4.ความขัดแย้ง 5. การช่วยเหลือ 6.การเตือนภัย 7.การฟื้นฟู
ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวถึงผลการวิเคราะห์บทบาทการทำหน้าที่ของฟรีทีวี พบว่า ฟรีทีวีส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งอาจทำให้กลุ่มพิเศษ กลุ่มความหลากหลายต่างๆ กลายเป็น “ผู้เสียพื้นที่” หรือ “ผู้เสียประโยชน์” โดย 1.การสร้างคุณลักษณะบุคคลในข่าว โดยเป็นการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกผ่านคุณลักษณะของบุคคลในข่าว 4 แบบ คือ 1.คนดี/ฮีโร่ 2.คนเห็นแก่ตัว 3.ผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยาก 4.สงครามนักการเมือง ซึ่งการที่ฟรีทีวีให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวลักษณะนี้มากเกินไปนั้น ได้ละเลยการทำหน้าที่อื่นๆ เพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะการเป็นกระบอกเสียงชี้ให้เห็นถึงปัญหาของคนกลุ่มต่างๆ
" 2.การให้พื้นที่/กลุ่มคนอย่างไม่เท่าเทียม ในมิติของพื้นที่และกลุ่มคน ชนชั้น ชาติพันธุ์ 3.การขาดข้อมูลที่ลึกและรอบด้าน ขาดการทำความเข้าใจในประเด็นข่าว เน้นพียงการรายงานเหตุการณ์ ว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยขน์ และ 4.การนำเสนอข้อมูลโดยไม่คำนึงถึงกลุ่มพิเศษ ที่มีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพียงชุดเดียวไม่เผยแพร่แก่ทุกกลุ่ม ซึ่งอาจทำให้คนเฉพาะบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ นำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่"
ขณะที่ อ.สุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อจำกัดของการศึกษาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะท้อนผ่านฟรีทีวีในวิกฤติน้ำท่วม”ของมีเดียมอนิเตอร์ ที่เลือกเอาเพียงช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งนั้น ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นเกินไปถ้าเปรียบกับความเหลื่อมล้ำที่เป็นภาพใหญ่ จึงทำให้น้ำหนักผลการศึกษาษาค่อนข้างมีน้อย เนื่องจากหากมีการเลือกช่วงเวลาก่อนหน้านี้ในช่วงที่น้ำไหลเข้าจังหวัดอื่นๆ ก่อนเข้ากรุงเทพฯ จะช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบการให้ความสำคัญของคนและพื้นที่ในช่วงที่ วิกฤตได้
“ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยมีมาก่อนแล้ว แต่ที่ผ่านมาสื่อไม่ได้ใช้ช่องทางนี้เปิดเผยเท่าที่ควร ฉะนั้น ต้องตั้งโจทย์กันใหม่ว่า สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่ตรงไหนบ้าง และในช่วงของการเกิดภัยพิบัติ จะสามารถเปิดพื้นที่ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำเหล่านั้นได้หรือไม่”
อ.สุภาพร กล่าวด้วยว่า ในช่วงสถานการณ์ จะมีอยู่ 3 เรื่องที่จะอยู่ในรายการ คือ ข่าวสาร ข้อมูล และความรู้ ต้องมาดูว่า ในสกู๊ปที่นำเสนอ ให้น้ำหนักความรู้มากน้อยแค่ไหน หรือเพียงแค่สะท้อนสถานการณ์เท่านั้น เพราะมิติเรื่องนี้สำคัญมากที่จะช่วยกระตุ้นให้สื่อได้เห็นทิศทางและมีความ มั่นใจที่จะนำเสนอเพื่อช่วยพัฒนาองค์ความรู้ให้กับประชาชนได้ ที่สำคัญเราจะ ทำอย่างไรให้การสื่อสารในช่วงวิกฤตนั้นไม่มีใครถูกลืม ให้โจทย์นี้อยู่ในทุกเวลาของการทำงานของนักข่าว
“ความจริงแล้ววิกฤตจริงยังไม่ได้มาถึง ในเหตุการณ์น้ำท่วม 2554 สิ่งที่สื่อนำเสนอช่วยสะท้อนให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นยังปราก ฎอยู่บ้าง แต่น้ำหนักก็ยังน้อยไปเมื่อเทียบกับการให้สังคมได้รับรู้ความทุกข์ของเพื่อนร่วมสังคมได้อย่างลึกซึ้งและอยู่ในระดับจิตสำนึกได้มากกว่านี้ จึงทำให้รู้สึกว่าความสูญเสียจากน้ำท่วมที่ผ่านมาไม่ค่อยคุ้มค่านัก”
ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวถึงการทำงานของสื่อในสถานการณ์วิกฤตว่า สื่อไม่สามารถที่จะลงไปหมดทุกที่ได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการเลือกนำเสนอส่วนใดส่วนหนึ่งที่เป็นที่สนใจและประชาชนให้ความสำคัญ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่สื่อจะต้องนำเสนอสถานการณ์ในกรุงเทพฯ เพราะรู้ว่า คนในกรุงเทพฯที่มีจำนวนมากต้องติดตาม ฉะนั้นแล้วทางแก้คือ อาจจะต้องเพิ่มสื่อในชุมชนให้มากขึ้น
“ในช่วงน้ำท่วม ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่เป็นการตลาดโดยแข่งขันที่จะเป็นตัวกลางการรับบริจาคของประชาชน ซึ่งส่วนนี้หากภาครัฐมีการจัดการด้านการช่วยเหลือที่ดี มีการเชิญทุกฝ่ายมาประชุมและแบ่งพื้นที่ในการช่วยเหลือ ก็สามารถที่จะช่วยได้” นายประสงค์ กล่าว และว่า เราถูกทำให้เชื่อโดยสื่อ เช่น คำว่า มหาอุทกภัย ที่ความจริงแล้วเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย แต่สื่อเองทำให้คนเชื่อว่าน้ำท่วมครั้งนี้เป็นอุทกภัยครั้งใหญ่
ส่วนผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงน้ำท่วมไม่ค่อยเห็นการรายงานข่าวที่ลงไปในวิถีชีวิตของผู้คน ไม่ค่อยเห็นภาพความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้การที่มีชาวบ้านออกมาชุมชนประท้วงนั้น เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้เข้าไปถึงพื้นที่การเมืองได้ในช่องทางปกติ ฉะนั้น พื้นที่สื่อจึงต้องเป็นพื้นที่ที่ให้คนเหล่านี้ได้มีปากมีเสียง และสามารถที่จะผนวกเข้าไปสู่พื้นที่การเมือง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและแสดงความเห็นในส่วนของพวกเขาได้
"ในมิติวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะในเรื่องของอัตลักษณ์ที่ต้องมีการขยายความคิดให้กว้างมากขึ้น เกณฑ์การแบ่งกลุ่มคนต่างๆควรต้องขยายให้มากกว่านี้ เช่น ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่สื่อไม่ควรละเลย"