นายกสมาคมนักข่าวฯ ชี้คนเปลี่ยนวิธีเสพข่าว แนะสื่อตื่นตัวเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย
'ประสงค์' ชี้ ทีวีดาวเทียมสะท้อนความอ่อนแอการรับรู้ข่าวสาร-ความอ่อนแอของวิชาชีพ แนะต้องปลูกฝังวิธีคิดแก่คนข่าวรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ด้าน 'แคน สาริกา' แนะสื่อปรับตัว-ใช้โซเชียลมีเดียเสนอองค์ความรู้ ลดการโฆษณาชวนเชื่อ
วันที่ 30 มีนาคม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน ชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดการ ประชุมสัมมนา “ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวาสารศาสตร์” ครั้งนี้ โดยมี นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายบัณฑิต จันทศรีคำ (แคน สาริกา) บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก และ ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “วารสารศาสตร์ การเผชิญความจริงกับสิ่งที่เปลี่ยนไป” ณ Convention Hall สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
นายชวรงค์ กล่าวถึงการใช้โซเชียลมีเดียว่ามีคนใช้โซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ที่จะนำเสนอข้อมูลหรือเนื้อหาจริงๆนั้นมีน้อย ซึ่งสำหรับที่จะใช้ในการรายงานข่าวนั้น นโยบายขององค์กรนั้นเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่จะไม่อ่านข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งบางทีก็ไม่ได้อ่านผ่านเว็บ แต่ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ฉะนั้นคนทำข่าววันนี้ถ้าไม่เผยแพร่ข้อมูลต่อไป ก็อาจจะไม่มีคนเข้ามาอ่าน
“นโยบายองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่าง เนชั่นที่มีนโยบายชัดเจนว่าทุกคนต้องใช้ ในขณะที่อาจมีบางคนไม่อยากใช้ ซึ่งนักข่าวอาจจะยังไม่เห็นว่าทวิตเพื่ออะไร แต่หากลองคิดใหม่ว่าเป็นการให้ข้อมูลออกไป ก็จะช่วยให้มีคนให้ข้อมูลกลับมาให้เราด้วย ซึ่งถ้าเข้าใจว่ามีประโยชน์อย่างไรก็จะมีคนใช้มากกว่านี้” นายชวรงค์ กล่าวและว่า ปัจจุบันยังไม่มีเว็บไซต์ที่ไม่มีสื่ออื่นมาก่อน ที่จะอยู่ได้ในทางธุรกิจได้ ในขณะที่อินโดนีเซียอยู่ได้มาเป็น 10 ปี และปัจจุบันมีแนวโน้มของคนอ่านเว็บมาจากโซเชี่ยลมีเดียสูงขึ้นเรื่อยๆด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของความท้าทายในเรื่ององค์กรวิชาชีพ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า สมาคมผู้สื่อข่าวฯ เป็นส่วนของนักข่าว คำถามคือตอนนี้นักข่าวขององค์กรข่าวอิสระสามารถเป็นสมาชิกของสมาคมได้หรือไม่ ต้องมีการปรับแก้ต่อไป นอกจากนี้ เรื่องของจริยธรรม แม้ว่าจะครอบคลุมการควบคุมไปถึงเว็บไซต์แต่ก็ต้องใช้ด้วยความสมัครใจก่อน และขณะนี้ที่สื่อหลอมรวมเป็น Convergence สภาจะยังแยกเป็น 2 สภาอยู่หรือไม่ หรือจะรวมกัน ก็ยังเป็นสิ่งที่หารือกันต่อไป
ขณะที่ นายประสงค์ กล่าวว่า เนื้อหาหรือการสื่อสารผ่านทีวีดาวเทียมที่ทำได้ง่ายขึ้นนั้นสะท้อนถึงความอ่อนแอของสังคมในการรับรู้ข่าวสาร รวมถึงความอ่อนแอของวิชาชีพ เพราะปัจจุบันนักข่าวไทยยังไม่มีการปรับตัว ยังมีคนกำหนดวาระให้ โดยนักข่าวคิดเพียงว่าจะต้องไปถามโดยไม่คิดว่าจะพกคำถามอะไรไปถามแหล่งข่าว ฉะนั้นต้องปลูกฝังวิธีคิดก่อน
“ภายใน 5 ปีหนังสือพิมพ์ตายในแง่ของการหารายได้หลักในองค์กร เพราะคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง โดยหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษจะเป็นเจ้าแรกที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากยอดรับทางโรงแรมก็ลดน้อยลง ซึ่งจะเห็นว่าทุกค่ายพยายามดิ้นรน ที่จะเสนอข่าวในสื่ออื่นๆ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ตอบโจทย์รายได้หลักอย่างจริงจัง สิ่งที่หนักใจอย่างหนึ่งคือ เมื่อเราเป็นผู้ผลิตจะเอารายได้จากที่ไหน โดยโมเดลของสื่ออิสระ คือให้องค์กรใหญ่เห็นความสำคัญ และมีคุณภาพ”
นายประสงค์ กล่าวว่า การทำข่าวเจาะหรือข่าวสืบสวนสอบสวนที่มีความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องได้ การถูกฟ้องก็มีเรื่องของค่าใช้จ่ายมาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นต้องคิดว่าจะทำอย่างเพื่อจะให้ทำข่าวในลักษณะนี้ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องดูคุณภาพของผู้เสพข่าวที่ มีความขัดแย้งในตัว เนื่องจากคนที่อ่านข่าวผ่านเว็บไซต์นั้นเป็นคนสมาธิสั้น ฉะนั้นการทำข่าวเชิงลึกหรือข่าวหนักๆนั้นก็เป็นเรื่องยาก
“เป็นโจทย์อีกอันว่าเราสอนเรื่องความคิดน้อยไปหรือไม่ ควรต้องสอนวิธีคิดและกระบวนการคิด ซึ่งเป็นเรื่องยากและเป็นนามธรรม เนื่องจากปัจจุบันมหาวิทยาลัยเน้นไปในเรื่องของเทคนิคต่างๆ แต่ละทิ้งกระบวนการคิดและการเพิ่มองค์ความรู้”
ด้านนายบัณฑิต กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทีวีดาวเทียมว่า เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง เนื่องจากสะท้อนให้เห็นว่าการทำสื่อทำได้ง่ายคน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนข่าวก็ทำได้ เช่น ป้าเชง หรือลีน่า จัง ที่สามารถมาทำทีวีและให้คนเชื่อได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องคนสอนนิเทศศาสตร์ต้องคิดใหม่ว่ามีคนแข่งในด้านนี้เพิ่มขึ้น
“สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงคือ จะดูแลควบคุมเนื้อหาและกรอบคิด กรอบจรรยาบรรณว่าจะมีวิธีจัดการอย่างไร นอกจากนี้ นักข่าวต้องทำข่าวให้ทันกับเรื่องราวที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคนข่าวภาคสนามที่จะไม่ทันสื่อออนไลน์ นักข่าวหนังสือพิมพ์อาจจะต้องข่าวได้หากไม่มีการมอนิเตอร์ เช่น หากแหล่งข่าวมีการแก้ข่าวในช่วงค่ำ แน่นอนว่าหนังสือพิมพ์ไม่สามารถลงข่าวได้ก็เท่ากับว่า ตกข่าว”
บรรณาธิการอำนวยการ นสพ. คม ชัด ลึก กล่าวต่อว่า ขณะที่เทคโนโลยีล้ำหน้าไปไกลแต่เนื้อหากลับย้อนกลับมาเป็นสื่อเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ กลับมามีบทบาทมากขึ้นสังคมไทย ทั้งในสื่อเก่าและสื่อใหม่ โดยเฉพาะบนสื่อใหม่ ที่สามารถดึงอารมณ์ร่วม ความรู้สึกของคนไปเร็วมาก เช่น อารมณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่ถูกเสริมด้วยโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อใหม่ ฉะนั้นแล้วมองว่าคนจะหลุดจากความขัดแย้งได้อย่างไร
“คนในวิชาชีพ ต้องปรับตัวใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องขององค์ความรู้ ทุกวันนี้ผมใช้ทวิตเตอร์เพื่ออยากให้ความรู้คนไม่ใช่เพื่อหาพรรคพวกหรือโฆษณาชวนเชื่อ สิ่งที่ทำคือเสริมองค์ความรู้ที่จะช่วยลดการโฆษณาชวนเชื่อลงได้ ทั้งนี้อยู่ที่เราว่าจะวางตัวอย่างไร เพราะหากเราวางตัวดีคนก็จะเคารพและทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและอธิบายองค์ความรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่กันได้”นายบัณฑิต กล่าวและว่า การปรับตัวขององค์กรข่าวนั้น การเปลี่ยนวิธีคิดเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะในส่วนของสื่อนั้นเปลี่ยนได้ไม่ยาก
ส่วนดร.สุดารัตน์ กล่าวว่า องค์กรข่าวมีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างมาก ในส่วนของปรับการทำงาน การเพิ่มเติมหน้าที่ ซึ่งเมื่อกลับมามองว่าลักษณะในการเรียนวารสารเป็นอย่างไรบ้าง ในยุคก่อนจะเรียนเน้นเกี่ยวกับ public Affairs เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องของวัฒนธรรม กฎหมาย และการเมือง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเริ่มสร้างวารสารศาสตร์ในยุคเก่าๆ หลังจากนั้นจึงต่อยอดและเพิ่มทักษะอื่นๆขึ้นมา แต่ปัจจุบันมันกลับหัวคือเรื่องพื้นฐานของการเมืองหรือกฎหมายน้อยลง แต่เทคโนโลยีกับข่าวนั้นหลอมรวมกันมากขึ้น รวมทั้ง มีความเฉพาะในเรื่องที่สนใจมากขึ้น มีความต้องการนำเสนอในเรื่องที่ตนเองเชี่ยวชาญเท่านั้น
“การปรับตัวของงานวิชาการและการเรียนการสอน ต้องมีการปรับโลกทัศน์มากมาย และในแง่ของการเรียนต้องปรับการสอนนักเรียนให้เป็นทั้งผู้รับและผู้ส่ง การสอนอาจจะต้องเป็นแบบ Multi Skill มากขึ้น โดยใช้คนน้อยแต่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง นอกจากนี้ ในเรื่องของทักษะที่ต้องมีอยู่ คือทักษะในการเล่าเรื่องหรือการทำข่าวเชิงลึก และต้องไม่ลืมพูดในเรื่องของจริยธรรมทั้งในส่วนของผู้รับสารและส่งสารด้วย”