ตรวจร่างสุดท้าย “กม.คุ้มครองสื่อ” ห่วงเป็นอาหารโอชะนักการเมือง
เวทีระดมสมองร่างฯ คุ้มครองสื่อ ตั้งคำถามสื่อมวลชนพร้อมหรือยังจะมีกม.ควบคุม คาดหากบังคับใช้จริง สภาการนสพ.ฯ อาจหมดประโยชน์-อ่อนลง เพราะองค์กรใหม่มีงบและความศักดิ์สิทธิ์กว่า
วันที่ 13 มีนาคม ศูนย์กฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานระดมสมองตรวจสอบร่างสุดท้ายกฎหมายคุ้มครองสื่อ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ชั้น 1 โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ โดยมี นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคณะทำงานยกร่างฯ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูลประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา นายภัทระ คำพิทักษ์ ประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมและเสรีภาพสื่อมวลชนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และตัวแทนองค์กรสื่อมวลชนร่วมให้ความคิดเห็น
นายชวรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายฉบับนี้ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากขึ้น และมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่ใช่แค่นักข่าว และครอบคลุมถึงสื่อมวลชน สื่อออนไลน์และสื่อใหม่ โดยจะมีคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการเจ้าของสื่อ หากทำการละเมิดหรือฝ่าฝืนจริยธรรม ซึ่งจะใช้งบประมาณจากภาษีเหล้าและบุหรี่ที่มีรายได้เกินจากที่ให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ประมาณ 15 ล้านบาท
ด้านนายภัทระ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อแวดวงสื่อสารมวลชน และควรที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น แต่เนื่องจากสภาพสังคมและสถานการณ์การเมืองที่เป็นเช่นนี้ หากกฎหมายคุ้มครองสื่อผ่านออกมาก็อาจจะเป็นได้ทั้งคุณและโทษ อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยหรือนักการเมืองไทยมีการใช้อำนาจหรือเสียงข้างมากในทางที่ถูกกฎหมายฉบับนี้ก็จะเป็นประโยชน์และไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นโทษ
"แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ และมีรูปธรรมมากต่อการควบคุมดูแลด้านจริยธรรมและคุ้มครองสื่อ แต่ก็ยังมีความเป็นห่วงกังวลว่า หากนำเสนอกฎหมายในสภาวะสังคมหรือสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ รัฐบาลอาจจะปรับเปลี่ยนหน้าตากฎหมายได้ ทั้งนี้ จะต้องคิดให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะหากออกกฎหมายไปแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้" นายภัทระ กล่าว และว่า เมื่อมีกฎหมายที่ควบคุมการทำงาน ก็จะทำให้หลักการควบคุมกันเองของสื่อเปลี่ยนแปลงไป แต่หากจะใช้วิธีการควบคุมกันเองอย่างเดิมก็จะประสบปัญหา เช่นที่ผ่านมา คือ เมื่อมีการควบคุมหรือตักเตือน สมาชิกก็จะลาออกจากองค์กรควบคุม
ในช่วงเปิดเวทีแสดงความคิดเห็น นายคธาทร อัศวจิรัฐติกรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 กล่าวว่า ในสภาวะสังคมเช่นนี้ ควรมีกฎหมายที่ควบคุมและบังคับกันเองของสื่ออย่างชัดเจน และแม้ไม่ควรมองด้านลบนัก แต่ก็อดเป็นห่วงระวังไม่ได้ว่ากฎหมายฉบับนี้อาจเป็นอาหารโอชะสำหรับนักการเมือง ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมจัดการสื่อได้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บทสรุปจากการระดมสมองและแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ ยังตั้งคำถามถึงสื่อในขณะนี้ว่ามีความพร้อมแล้วหรือยังหากจะมีกฎหมายที่ควบคุมและคุ้มครองสื่ออย่างเป็นรูปธรรม และหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ องค์กรกำกับดูแลสื่อ เช่น สภาการหนังสื่อพิมพ์แห่งชาติอาจหมดประโยชน์ได้ เนื่องจากองค์กรที่จะตั้งขึ้นใหม่ตามกฎหมายฉบับนี้มีงบประมาณและมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่า จึงคาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มองค์กรจะมีความความอ่อนลง รวมทั้งเสนอให้จัดเวทีที่ระดมความเห็นสื่อออนไลน์ หรือแมกกาซีนมาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ด้วย