ภาคประชาชน เผยเลือกใช้โซเชียลมีเดียแจ้งข่าวน้ำท่วม เหตุได้พื้นที่สื่อหลักน้อย
ทีมเฟซบุ๊คเพจ ‘รู้ สู้ Flood’ ชี้ โซเชียลมีเดียเปิดช่องให้ทุกคนมีอาวุธเท่ากัน เชื่อ ข่าวลวงในโลกออนไลน์ สร้างบาดแผลให้คนมีสติ ด้านผู้บริหารสปริงนิวส์ ย้ำชัดคนเสพข่าว ต้องรู้จักตั้งคำถาม-ไม่เสพอะไรง่ายๆ ป้องกันการตกเป็นเหยื่อ
วันที่ 14 ธันวาคม เครือข่ายพลเมืองเน็ต สนับสนุนโดยมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ จัดเสวนาเรื่อง “บทบาทสังคมออนไลน์ในวิกฤตน้ำท่วม” ที่โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ โดยมีนางสาวนันทินี นิพันธวงศ์กร ทีมเฟซบุ๊คเพจ ‘ชาวจรัญฯ ร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม’ นายธวัชชัย แสงธรรมชัย ทีมเฟซบุ๊คเพจ ‘รู้ สู้ Flood’ นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ นายพิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ ผู้จัดโครงการบริษัทสยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิตและคณะทำงานหลักเครือข่ายจิตอาสา ร่วมเสวนา
นางสาวนันทินี กล่าวถึงจุดประสงค์ของการตั้งเพจ ‘ชาวจรัญฯ ร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม’ ว่า ต้องการเป็นตัวกลาง และกระบอกเสียงในการรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้ชาวจรัญฯ ได้รับรู้ เนื่องจากพบว่า สื่อกระแสหลักรายงานข่าวเกี่ยวกับชาวจรัญฯ แค่ 5 นาทีในเวลาหนึ่งชั่วโมง
“เรามีพื้นที่ไม่พอในสื่อกระแสหลัก จึงเปิดเพจขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาแชร์ข้อมูลระดับน้ำ ความเปลี่ยนแปลงของแต่ละซอย รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น โดยนำข้อมูลมาสรุปรายละเอียด เพื่อเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่"
ขณะที่นายธวัชชัย ทีมเฟซบุ๊คเพจ ‘รู้ สู้ Flood’ กล่าวถึงภาวะที่ข้อมูลท่วม การจัดระเบียบข้อมูลให้เข้าใจง่ายมีความสำคัญ จึงได้จัดทำข้อมูลในรูปแบบอินโฟร์กราฟฟิก ในลักษณะสื่อสาธารณะที่มีเป้าประสงค์ เพื่อเป็นเพื่อนปลอบสติ ที่พูดภาษาเดียวกัน น้ำเสียงเดียวกัน เพื่อให้คนสนใจฟังมากกว่าสื่อกระแสหลัก โดยมีเรื่องราวกลไกธุรกิจ การโฆษณาอยู่เบื้องหลัง
“โซเชียลมีเดียมีข้อดีที่ทำให้ข้อมูลคานกัน แต่ในทางกลับกัน ความอิสระเสรีก็เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแชร์ทุกอย่างได้ โดยมีหมาก มีอาวุธ ซึ่งเป็นกลุ่มแชร์ที่เท่ากัน ดังนั้น เมื่อเราไม่สามารถจัดการต้นทางของข้อมูลหรือคนแชร์ได้ ก็ต้องจัดการที่ตนเองในการพิจารณาข้อมูล สร้างภูมิคุ้มกันขึ้น"
นายธวัชชัย กล่าวถึงความผิดพลาดและข้อคิดเห็นในโซเชียลมีเดียที่ทำให้สังคมหลงเชื่อว่า เป็นบาดแผลที่เจ็บแสบให้คนตระหนักถึงการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งแผลดังกล่าวถือว่าคุ้มค่ากับเสรีภาพในการสื่อสาร
ด้านนายฉัตรชัย กล่าวถึงมุมบวกและลบของโซเชียลมีเดีย ข้อมูลที่กองเป็นภูเขาในโลกออนไลน์ หลายเรื่องสื่อกระแสหลักก็หยิบขึ้นมาตรวจสอบ อีกหลายเรื่องราวก็ถูกนำไปอภิปรายในสภาฯ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ คงไม่มีใครรู้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือความรับผิดชอบของต้นทาง ขณะเดียวกันผู้เสพข่าวสารต้องมีการตั้งคำถาม ไม่เช่นนั้นจะมีการสร้างประเด็น ใส่สีตีไข่ เพื่อหาประโยชน์จากพฤติกรรมของคนในสังคมที่มักเสพอะไรง่ายๆ
นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า ในวันข้างหน้าสื่อออนไลน์จะแข็งแรงมากกว่านี้ แต่เราอย่าไปแยกระหว่างสื่อใหม่ สื่อเก่า สื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง เพราะทุกสื่อต้องพึ่งพากัน เพื่อสร้างแนวต้าน ทัดทานกระแสสังคมหรือกลุ่มคนที่หวังหาประโยชน์จากสังคม
ด้านนายพิเชฐ กล่าวถึงการสื่อสารผ่าน โซเชียลมีเดีย เป็นเพียงการเปลี่ยนช่องทางในการสื่อสารเท่านั้น เพราสุดท้ายคนก็ไปติดตามคนที่มาจากสื่อกระแสหลัก เนื่องจากมีความเชื่อถือ มีบารมี ซึ่งสิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การรีทวิต ถ้ามีการแต่งเติมเนื้อหาเข้าไป อาจทำให้สารผิดความได้
จากนั้นในช่วงบ่าย นางทวีพร คุ้มเมธา บรรณาธิการออนไลน์เครือข่ายพลเมืองเน็ต แถลงรายงานสถานการณ์เสรีภาพอินเตอร์เน็ตประเทศไทย ประจำปี 2554 ซึ่งจากการศึกษาสถิติและความเคลื่อนไหวของคดีที่เป็นการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในปี 2554 จำนวน 5 คดี และก่อนหน้านี้อีก 6 คดี พบว่า แนวโน้มการใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นไปเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะถูกนำไปใช้ตีความและจับกุมเนื้อหาที่เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ตมากกว่าใช้ในการจับกุมอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมาย