สื่อตรวจสอบกันเองไม่ได้ผล “นักวิชาการ” แนะสภาการฯ ทบทวน ดึงคนนอกร่วมวง
นักวิชาการนิเทศฯ หวั่น สื่อตรวจสอบกันเองแล้วทำไม่ได้ อาจเปิดช่องให้กลุ่มอำนาจรัฐเข้ามาควบคุม ขณะที่ “ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ” แจง ผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่เห็นด้วยกับผลสอบ สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯได้
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” ถึงกรณีการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน หลังมีเหตุการณ์สมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติถอนตัวจากการเป็นสมาชิก ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมามีอยู่หลายครั้งที่ความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ของสภาการฯ ต่อสื่อบางสื่อ ทำให้สื่อที่รับไม่ได้ และทยอยกันลาออกไป ซึ่งเมื่อลาออกไปแล้วก็ไม่มีผลในเชิงที่จะลงโทษได้
“หลักการของสภาการฯ เน้นที่การสร้างกรอบจริยธรรมในการควบคุมกันเองของสื่อ แต่เมื่อปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก็ย่อมสะท้อนการทำงานของสภาการฯ ด้วยว่า จะยังใช้ในลักษณะเดิมได้หรือไม่ หากยังคงใช้ในลักษณะเดิม เมื่อสื่ออื่นๆ ไม่พอใจแล้วใช้วิธีลาออกอีก ก็จะไม่สามารถดำรงในเรื่องกรอบจริยธรรมได้ ดังนั้นจึงคิดว่า ในส่วนของสภาการฯ คงต้องทบทวนอยู่พอสมควรว่า จะใช้กระบวนการที่จะทำให้สื่อหนังสือพิมพ์ รวมถึงสื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อใหม่ ควบคุมกันเองได้อย่างไร หลักการควบคุมกันเองที่มีอยู่เดิมเพียงพอหรือไม่ และหากไม่พอจะให้กระบวนการใดมาควบคุม”
ดร.มานะ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสื่อไม่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาควบคุม เพราะกลัวว่าจะมีการแทรกแซง จึงคิดโครงสร้างในส่วนของสภาการฯ ขึ้นมา แต่เมื่อสื่อไม่สามารถควบคุมกันเองได้ สิ่งที่น่ากลัวคือ หากให้รัฐเข้ามาควบคุมก็จะกลายเป็นสื่อไม่มีเสรีภาพ ฉะนั้น กระบวนการที่น่าจะพัฒนาขึ้นคือ การควบคุมจากภาคประชาชน องค์กรผู้บริโภคสื่อที่ต้องเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการทำงานของสื่อมากขึ้น เพราะต้องยอมรับสื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบองค์กรอื่นๆ ทั้งองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารอย่างมาก แต่องค์กรสื่อเองกลับได้รับการตรวจสอบน้อย
ส่วนแนวทางเพิ่มการตรวจสอบจากภาคประชาชนนั้น ดร.มานะ กล่าวว่า ต้องเริ่มจากการให้ความรู้เรื่องการเท่าทันสื่อแก่ประชาชน เพราะหากปล่อยให้เฉพาะคนบางกลุ่มขึ้นมา ทำหน้าที่ตรวจสอบก็จะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นกลุ่มมาเฟีย แต่ทั้งนี้ในระยะสั้นคงต้องเริ่มจากตัวสื่อ กระบวนการของสภาการฯ ที่ต้องทบทวนตนเองให้มากขึ้น รวมถึงเปิดให้มีภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบ เพราะในเมื่อยึดหลักการเดิม ตรวจสอบกันเองทำอะไรไม่ได้ ผลสอบก็บอกไม่เอาไม่ยอมรับ สภาการฯ ต้องคิดกระบวนการใหม่ที่เปิดให้มีการตรวจสอบจากข้างนอก ขืนปล่อยให้ตรวจสอบกันเองแล้วทำไม่ได้ อาจเปิดช่องให้กลุ่มที่มีอำนาจรัฐเข้ามาควบคุม นอกจากนี้ ในอนาคตอาจต้องมีการจัดตั้งสภาของผู้อ่านหนังสือพิมพ์ สภาของผู้บริโภคสื่อหรืออะไรก็ตาม เพื่อเป็นกระบวนการในการตรวจสอบสื่อ เมื่อพิสูจน์แล้วว่า สื่อไม่สามารถตรวจสอบกันเองได้
สำหรับทิศทางการพัฒนาองค์กรวิชาชีพต่อไปนั้น ดร.มานะ กล่าวว่า องค์กรวิชาชีพ ตัวสภาการฯ ต้องมีการพัฒนาอยู่แล้ว คงไม่สามารถทำเฉพาะหนังสือพิมพ์ได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องขยายไปถึงสื่อใหม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็มีการพูดคุยกันว่า อาจเปลี่ยนสภาการหนังสือพิมพ์ไปเป็นสภาสื่อมวลชนหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้ครอบคุลมทั้งวิทยุโทรทัศน์ สื่อใหม่ แต่ประการสำคัญคงอยู่ที่แก่นของกระบวนการตรวจสอบตนเองในเรื่องจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันให้มาก
ทั้งนี้ วันที่ 8 กันยายน นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ กรรมการประเภทที่ 1 ประธานคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 6 เขียนบันทึกในเฟซบุ๊ก (Pramote Faiupara) เรื่องการลาออกของมติชน ข่าวสดและประชาชาติธุรกิจดังนี้
“ผมเสียใจครับที่หนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสดและประชาชาติธุรกิจได้ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับก็ปฎิบัติอยู่ในกรอบจริยธรรมด้วยดีมาตลอด ไม่เคยกระทำใดๆ ขัดต่อกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
เรื่องอีเมลของนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา ที่กลายเป็นข้อพิพาทและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายนั้น ผมขอสรุปให้ฟังว่าเมื่ออีเมลฉบับดังกล่าวได้ถูกนำออกมาเผยแพร่ระบุว่าได้ใช้เงินดูแลสื่อแห่งละ 2 หมื่นบาท เพื่อให้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในช่วงระยะเวลาของการหาเสียงเลือกตั้ง มีนักหนังสือพิมพ์จากหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้รับผลประโยชน์นั้น แม้นายวิม จะออกมาปฎิเสธว่าไม่ได้เขียนอีเมลดังกล่าวและไม่เป็นความจริง แต่เมื่ออีเมลได้ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาและวงการสื่อเป็นอย่างมาก
ผมเองในฐานะที่เป็นประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและมีชื่อถูกระบุในอีเมลว่า ได้รับผลประโยชน์เพื่อสนับสนุนพรรคเพื่อไทยด้วย ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ตัวผมเอง เกิดกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ผมสังกัดอยู่ เกิดกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อหนังสือพิมพ์ที่ผู้เป็นประธานถูกกล่าวหาเสียเอง ผมจึงเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้ ต้องทำความจริงให้ปรากฎโดยเร็ว
การจะสอบข้อเท็จจริง ถ้าจะใช้อนุกรรมการตรวจสอบของสภาการหนังสือพิมพ์ฯก็จะไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของสังคม ผมจึงได้เสนอต่อที่ประชุมของสภาการหนังสือพิมพ์ฯขอให้ใช้คนนอกมาทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริง ในเรื่องนี้ที่ประชุมของสภาการหนังสือพิมพ์ฯจึงได้เสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องขึ้นมา มีนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ เป็นประธาน ผมต้องขอขอบคุณคณะอนุกรรมการทุกท่านที่เสียสละเข้ามาทำหน้าที่นี้ ซึ่งทุกท่านทราบดีว่าเรื่องที่ตรวจสอบนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองรวมอยู่ด้วย
เมื่อผลสอบออกมา ได้มีการแถลงต่อสาธารณะ ได้สร้างความขัดแย้งไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นระหว่างสื่อหนังสือพิมพ์กับอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง ส่วนตัวผมเองนั้น ผมยอมรับผลการสอบครั้งนี้ แม้มีบางเรื่องจะมีความเห็นต่างก็ตาม
วันนี้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ยังไม่เป็นข้อยุติที่จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ผมเห็นว่าสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ก่อตั้งขึ้นมาจากองค์กรหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ซึ่งเวลานี้มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศให้มาควบคุมดูแลจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ด้วยความสมัครใจ มีระเบียบ มีข้อบังคับ มีวิธีปฎิบัติ
ถ้าผลการสอบ ผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่เห็นด้วยก็สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯได้ ถ้าทุกฝ่ายปฎิบัติตามข้อบังคับนี้ ก็จะยุติได้ด้วยดี หนังสือพิมพ์นั้นก็ไม่ต่างจากองค์กรอื่นๆ เมื่อตรวจสอบผู้อื่นได้ ก็ถูกผู้อื่นตรวจสอบได้เช่นกัน ถ้าเห็นว่าการตรวจสอบนั้นไม่ถูกต้องก็สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่คนหนังสือพิมพ์ร่วมมือร่วมใจกันก่อตั้งมา 14 ปีแล้ว ให้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลจริยธรรมของคนหนังสือพิมพ์ ด้วยความสมัครใจ ถ้าสภาการหนังสือพิมพ์ฯไม่สามารถควบคุมกันเองได้ ไม่เป็นที่ยอมรับขององค์กรสมาชิก อนาคตของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติก็ขึ้นอยู่กับคนหนังสือพิมพ์ที่จะต้องตัดสินใจ"