รองอธิบดีกรมพินิจฯ ย้ำปัญหาเสนอข่าวละเมิดเด็ก เพราะไม่บังคับใช้กม.
ตร.-ศาล-กรมพินิจฯ-ผู้พิพากษา เปิดปมเสนอข่าวละเมิดเด็ก พบไล่แก้กม. เดินผิดทาง ต้องสางการบังคับใช้ เพิ่มความรู้ตำรวจให้มาก ตั้งคำถามนักข่าวทำหน้าที่สื่อที่ดี แต่ทำหน้าที่มนุษย์ที่ดีหรือไม่
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา “เสนอข่าวเด็กอย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิ์-ติดคุก” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวฯ โดยมี นายวัชรินทร์ ปัญเจกวิญญูสกุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี พล.ต.วิชัย รัตนยศ ผู้บังคับการกองคดีอาญาสำนักงานกฎหมายและคดี นางศุภมาศ พยัฆวิเชียร รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และนายเจษฎา อนุจารีย์ รองประธานสภาวิชาชีพฯ ร่วมสัมมนา
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ทุกประเทศต่างก็ให้ความสำคัญและให้ความคุ้มครองกับเด็กทั้งในกรณีที่เป็นผู้เสียหายหรือเป็นจำเลย เนื่องด้วยเด็กยังไม่สามารถทนแรงเสียดทานได้เท่าผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ และเด็กยังต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านตามสิทธิเด็กและเยาวชน กฎหมายจึงต้องให้การคุ้มครองเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ อย่างในการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ในหลายประเทศจะไม่ทำกับเด็ก หรือหากทำจะจำลองในห้อง ไม่ทำในที่สาธารณะ
“ด้วยเพราะครอบครัวมีความลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ.2550 มาดูแลคุ้มครอง และมี พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 เพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษมากกว่าผู้ใหญ่ แม้ในกรณีที่เป็นจำเลย เพราะการคุ้มครองจะทำให้เด็กมีโอกาสได้อยู่ในสังคม และพัฒนาไปเป็นพลเมืองของชาติได้”
ขณะที่พล.ต.วิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาตำรวจตกเป็นจำเลยในการปฏิบัติงานกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กอยู่เสมอ ทั้งขั้นตอนการทำแผนหรืออนุญาตให้ถ่ายภาพข่าว ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีคำสั่งห้ามเสนอข่าวที่กระทบกับเด็กและสตรีอยู่แล้ว ที่พบส่วนมากเป็นเรื่องของการแสดงผลงาน ซึ่งไม่ก็ถูกต้องตามกฎหมายแต่ไม่ได้มีการกำหนดโทษไว้อย่างชัดเจนนัก
สำหรับการเสนอข่าวเด็กอย่างไรไม่ให้ละเมิดนั้น พล.ต.วิชัย กล่าวต่อว่า หลักการเบื้องต้นคือไม่เสนอสิ่งที่กฎหมายห้าม ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 130 ห้ามบันทึกภาพและเผยแพร่เสียง มีเจตนาไม่ต้องการให้เสนอข่าวที่ทำให้คนรู้ว่าผู้ต้องหาและครอบครัวคือใคร แต่มีข้อยกเว้นเรื่องประโยชน์ในการสอบสวน
“กรณีที่ตำรวจให้ความร่วมมือกับมูลนิธิต่างๆ ในการแถลงข่าวเกี่ยวกับเด็ก ตามกฎหมายมีข้อบังคับอยู่ แต่ปัจจุบันการบังคับใช้ไม่เป็นผล ตำรวจยังมีความรู้เรื่องกฎหมายครอบครัวไม่มาก จึงยังพบกรณีดังกล่าวอยู่ ทั้งนี้ยังพบว่าปัจจุบันคนทำผิดหรืออาชญากรใช้ช่องโหว่ที่ตำรวจจับเด็กไม่ได้ หรือเอาผิดไม่ได้เท่าผู้ใหญ่มาใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการทำผิดมากขึ้น”
ด้านนางศุภมาศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายมากมายที่ใช้ลงโทษโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก แต่เราไม่เคยบังคับใช้กฎหมาย จึงเป็นเหตุของปัญหาตลอดมา การแก้ปัญหาของของเราคือการไล่แก้กฎหมาย ทั้งๆ ที่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การบังคับใช้ สำหรับสื่อมีอิสระในการเสนอข่าวตามกฎหมาย ด้วยความรวดเร็ว เป็นจริง แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยทำให้เกิดความเสียหายในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือเสียชื่อเสียง
นางศุภมาศ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เป็นสมัยทุนนิยม ต้องตั้งคำถามว่า อบายมุขทั้งหลายในสังคมที่นายทุนหรือนักการเมืองเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา วันนี้รับผิดชอบหรือยัง เด็กเป็นผ้าขาวที่ทุกวันต้องตื่นมาเห็นตัวอย่างในสังคมและเกิดการทำตามโดยไม่รู้ว่าความเสียหายที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ก่อนที่จะมีการพิพากษา เอาผิด สามารถทำโปรแกรมฟื้นฟูจิตใจได้ โดยดูจากเจตนาและทำการบำบัด
“ก่อนอื่นต้องมองเด็กให้เป็นลูกหลาน เป็นพลเมือง เด็กทุกคนไม่ได้เลวร้ายหรือเจตนาทำผิด สามารถบำบัดให้ให้เขากลับมาเป็นคนดีของชาติได้”
ส่วนนายเจษฎา กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวเป็นวิชาชีพที่มีการรับรองสิทธิและคุ้มครองการทำงานอยู่แล้ว แต่คนไทยชอบพูดถึงสิทธิเสรีภาพโดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ และพูดถึงเสรีภาพต้องโดยไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบ ผลกระทบจากการรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวมีกว้างขวางมาก หลายครั้งนักข่าวทำหน้าที่นักข่าวที่ดี แต่ต้องคิดด้วยว่าทำหน้าที่มนุษย์ที่ดีหรือยัง
“ที่ผ่านมาเรามีกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก เยาวชนและครอบครัวหลายฉบับ แต่ไม่มีใครสนใจว่าภายหลังที่กฎหมายออกมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง บังคับใช้อย่างไร ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีการนำนักข่าวมาลงโทษได้สักคดี จากนี้อาจจะมีการลงทาเป็นกรณีตัวอย่าง จึงต้องระมัดระวังการเสนอข่าวเด็กมากขึ้น ไม่อย่างนั้นอาจจะมีใครโชคดีได้เป็นตัวอย่างในคดีดังกล่าวนี้ได้”