ผู้ผลิตสื่อหนุนสร้าง ‘คุณภาพผู้รับสาร’ ป้อมปราการปกป้องสื่อดี
ชี้ยั่งยืนกว่ากองทุนสื่อฯ ‘ต่อพงษ์’ ฉะสื่อทำให้กลายเป็น ‘มนุษย์ครึ่งเดียว’ ได้เพียงผู้บริโภค ด้าน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปลุกพลเมืองสร้างพลังตอบกลับผู้รับสาร ร่วมตรวจสอบ เฝ้าระวังสื่อ
วันที่ 25 มีนาคม คณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป จัดเวทีวิชาการ “สร้างจินตนาการประเทศไทย ด้วยกองทุนสื่อสร้างสรรค์” โดยมี น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) น.ส.ภัทราพร สังข์พวงทอง พิธีกรรายการกบนอกกะลา นายต่อพงษ์ เสลานนท์ อุปนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และกรรมการสมัชชาปฏิรูป นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมเสวนา ณ ห้องปฏิรูป 5 อิมแพค เมืองทองธานี
การขับเคลื่อน พ.ร.บ.กองทุนสื่อฯ
น.ส.เข็มพร กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันการศึกษาของเด็ก และเยาวชน ทั้งโดยตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจ ปัญหาสื่อไร้คุณภาพที่กระทบต่อเด็กและเยาวชนขณะนี้จึงอยู่ในขั้นวิกฤติ ประเด็นนี้นับว่า เกี่ยวโยงกับการปฏิรูปประเทศ ทั้งจุลภาคและมหภาค ดังนั้นแนวคิดในการปฏิรูปสังคมและปฏิรูปเยาวชนต้อง ปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนให้เป็นกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์
“หากสื่อมีคุณภาพจะสามารถสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการ ทัศนคติ จิตสำนึกใหม่ และสร้างเด็กพันธุ์หม่ได้ จึงต้องมีกระบวนการสื่อมวลชนศึกษา เพื่อสร้างทัศนะ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ วิจารณ์สื่อได้ และส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในการผลิตสื่อ”
น.ส.เข็มพร กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อด้วยว่า พ.ร.บ.กองทุนสื่อฯ ที่ขณะนี้ได้ผ่านขั้นกฤษฎีกาแล้ว จะเป็นกลไกทางการเงินที่จะมาสนับสนุนให้เกิดรายการที่มีคุณภาพ เพิ่มสัดส่วนรายการประเภทนี้ให้เพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน สร้างระบบมาตรฐานที่ไม่เพียงแค่สนับสนุนการผลิต แต่ต้องปฏิรูปทั้งระบบนำไปสู่การพัฒนาที่ครบวงจร
“แนวคิด และกลไกกองทุนสื่อฯ เพื่อให้เกิดองค์กรที่สร้างสรรค์สื่อใหม่ๆ ให้หลากหลายขึ้น ไม่ใช่ส่งเสริมในสิ่งที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้กองทุนฯ จะต้องเป็นองค์กรอิสระที่สนับสนุนโดยงบประมาณของรัฐ โดยมุ่งหวังให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ผ่านกระบวนการสื่อสร้างสรรค์ เพิ่มปริมาณสื่อคุณภาพให้เข้ามาแทนที่สื่อที่เสี่ยง”
กองทุนสื่อฯ สร้างจินตนาการใหม่ได้อย่างไร
นายต่อพงษ์ กล่าวในมุมมองผู้ผลิตสื่อภาคประชาชนว่า ทุกคนควรมีความเชื่อว่า สื่อทุกแขนง ล้วนอยากทำสื่อดี เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ในกระบวนการผลิตสื่ออาจมีเงื่อนไขที่ทำให้ความประสงค์นั้นเป็นจริงไม่ได้ ซึ่งการเกิดขึ้นของกองทุนสื่อฯ จะเข้ามาช่วยลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคเหล่านั้น แต่ปัญหาคือจะผลักดันอย่างไรให้กองทุนสื่อฯ สำเร็จได้ เพราะทุกวันนี้สื่อถูกใช้เพื่อการพาณิชย์มากไป
“เราถูกสื่อนำพาให้กลายเป็นมนุษย์เพียงครึ่งเดียว คือ เป็นแค่ผู้บริโภค ต่อจากนี้หากเราจะชี้ทิศทางประเทศด้วยเศรษฐกิจประเทศไทยคงไปไม่รอด เรียกได้ว่าเป็นภาวะมะเร็งขั้นสุดท้ายที่เราทั้งหลายจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว”
น.ส.ภัทราพร กล่าวในมุมมองของผู้ผลิตรายการทีวีว่า การที่สื่อคุณภาพ นำเสนอเนื้อหาดีๆ ไม่สามารถอยู่รอดได้และเหลือเพียงสื่อเพื่อการพาณิชย์นั้น เป็นเพราะมีปัจจัยกดดัน ดังนั้น หากกองทุนสื่อฯ เกิดขึ้นได้จริงจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร นอกจากกองทุนสื่อฯ แล้ว พลังสำคัญอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถปกป้องสื่อดี คือ ความรู้ และการรู้เท่าทันสื่อที่จะยั่งยืน ยาวนานกว่าการมีกองทุนสื่อฯ ที่สักวันจะต้องหมดไป
“การพัฒนาผู้รับสารเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า เพราะจะเป็นปราการปกป้องสื่อดีๆ ที่มีคุณภาพไว้ได้ ซึ่งต้องเชื่อมั่นว่าผู้รับสารจะเป็นกลไกควบคุมสื่อได้ดีที่สุด แล้วทุกฝ่ายทุกภาคส่วน โดยเฉพาะฝ่ายทุนจะเข้ามาเอง”
ในมุมมองของผู้บริโภค นายอิฐบูรณ์ กล่าวถึงการสร้างกลไกในการรู้เท่าทัน และการเฝ้าระวังสื่อ นับว่ามีความจำเป็น เพราะสื่อในปัจจุบันเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายในคนเดียว บางครั้งนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพ แต่บางครั้งก็นำเสนอสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสังคม ฉะนั้น การมีกองทุนสื่อฯ จะเป็นกลไกสำคัญที่นำไปสู่ความเป็นอิสรภาพทางการเมืองและกลุ่มทุนที่เข้ามาครอบงำการผลิตสื่อ
“ผู้รับสารจะต้องรวมพลังส่งสารไปยังผู้ผลิตสื่อและหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ เพราะหากเกิดพลังแล้วทุนจะเข้ามาเอง ซึ่งกลไกนี้นับว่าสำคัญกว่ามีกองทุน กลไกผู้บริโภคและกลไกของพลเมืองมีความสามารถที่จะตรวจสอบและเฝ้าระวังสื่อได้ ฉะนั้น พลเมืองต้องร่วมกันสร้างพลังตอบกลับ ให้ผู้ผลิตสื่อรู้ว่าผู้รับสารรู้เท่าทัน และไม่ได้เป็นผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว”