คพส. เปิดรับฟังความเห็นต่อ 5 ข้อเสนอพัฒนาสื่อ
เวทีระดมความเห็น เสนอจัดตั้งคกก. จริยธรรมภายในองค์กรสื่อ และสร้างกลไกกำกับดูแลกันเอง เชื่อมโยง พ.ร.บ.จดแจ้งฯ – พ.ร.บ.กระจายเสียงฯ ด้านองค์กรวิชาชีพ วิชาการ องค์กรอิสระต่างเห็นพ้องในหลักการ ห่วงเกิดขึ้นได้หรือไม่ และความชัดเจนในการแบ่งบทบาทรัฐ-องค์กรวิชาชีพ
วันที่ 22 มีนาคม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ Heinrich Boll Stiftung Southeast Asia จัดเวทีระดมความเห็นต่อข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพ ภาควิชาการ และองค์กรอิสระ เข้าร่วม
นายมานิจ สุขสมจิตร ประธาน คพส. กล่าวถึงข้อเสนอของคณะทำงานและคณะกรรมการ คพส. มี 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การพัฒนากลไกควบคุมกันเองทางวิชาชีพ ที่มีข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมภายในองค์กรสื่อ หรือ News Ombudsman และเสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างสภาวิชาชีพสื่อ 2.การพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ มีข้อเสนอเรื่องการอบรมบุคลากรก่อนเข้าสู่วิชาชีพ เสนอเรื่องการอบรมหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ข่าว เสนอเรื่องการอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพผู้สอนวิชาชีพข่าว 3.การปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ให้มีการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน (อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา) และเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายหมิ่นประมาท 4.การปรับปรุงกฎหมายด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ให้มีการติดตามการบังคับใช้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์แลละกิจการโทรคมนาคม และ 5.การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เสนอให้จัดตั้งองค์กรเฝ้าระวังสื่อภาคประชาชน
นายมานิจ กล่าวว่า แม้ทาง คพส. จะจัดให้มีการพัฒนาบุคลากรวิชาชีพ แต่ที่ผ่านมาก็ยังทำไม่ครบถ้วนสมบูรณ์พอ และยังถูกทวงถามจากสังคมถึงคุณภาพคนทำสื่อพอสมควร จึงได้หาแนวทางแก้ไขประเด็นเหล่านี้ ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นกฤษฎีกา ทางคณะทำงานจะดูแลติดตามในเรื่องที่มาของเงินอุดหนุน ที่มีผู้กังวลว่า หากรัฐเข้ามาอุดหนุนแล้วจะขาดความเป็นอิสระ และถูกแทรกแซง
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงผลวิจัยเรื่อง “กลไกการกำกับดูแลและควบคุมกันเองของสื่อมวลชนไทย” ที่ทำร่วมกับ นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ว่า แนวคิดดังกล่าวมีมิติการกำกับดูแลสื่อใน 2 ระดับ ได้แก่ 1. การกำกับดูแลโครงสร้าง 2. การกำกับดูแลเนื้อหา ที่จะเป็นการกำกับดูแลเชื่อมโยงกับกฎหมายของรัฐ คือ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ และ พ.ร.บ.กระจายเสียงฯ เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยมีองค์กรวิชาชีพจัดหลักเกณฑ์อย่างเป็นระบบ และออกข้อบังคับทางจริยธรรมอย่างเป็นรูปธรรม มีการร่างข้อบังคับและบังคับใช้เอง ซึ่งจะมาแก้ปัญหาการไม่เข้าเป็นสมาชิก และการบังคับ ลงโทษที่ไม่มีประสิทธิผล
ขณะเดียวกันนางสุวรรณา สมบัติรักษาสุข คณะทำงาน คพส. กล่าวสรุปถึงข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ว่า สำหรับข้อเสนอเรื่องการกำกับดูแลร่วม ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับหลักการ แต่มีข้อสังเกตถึงความท้าทายในการแบ่งบทบาทระหว่างรัฐกับองค์กรวิชาชีพว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ มีข้อเสนอว่า ควรขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมที่มากกว่าแค่รัฐกับองค์กรวิชาชีพโดยเสนอให้มีกรไกภาคสังคม และองค์กรผู้บริโภคเข้ามาร่วมด้วย ส่วนข้อเสนอในการจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมภายในองค์กรสื่อ จะต้องทำงานอย่างหนักและทำให้เกิดการเชื่อมโยงของกลไกในภาคส่วนต่างๆ
สำหรับข้อการพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ นางสุวรรณา กล่าวว่า ควรมีการพัฒนาทางวิชาชีพมากกว่าพัฒนาตัวหลักสูตรการอบรม และหลักสูตรควรเป็นการนำเสนอในเรื่องยุทธศาสตร์มากกว่าเนื้อหา และควรให้สถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนกับด้านวิชาชีพมากขึ้นด้วย