‘มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท’ เผยดัชนีชี้วัดภาพรวมสื่อไทย สอบผ่าน 2.72 เต็ม 5
ผลดัชนีชี้วัดสะท้อนเชิงลึกประชาธิปไตยไทย ‘ประสงค์’ ชี้ยังมีสื่อไม่เข้าใจการวิจารณ์ที่ถูกหลักการและมีภววิสัย ด้าน ‘สุภิญญา’ มองจุดบอดการพัฒนาสื่อไทย เพราะเปลี่ยนกฎหมายบ่อย
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย จัดแถลงข่าว “ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย : ประเทศไทย 2553” ณ ห้องอยุธยา 3-4 โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค ถนนราชปรารภ โดยมี รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ นำเสนอผลรายงาน
รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวถึง ดัชนีชี้วัดสื่อเอเชีย ว่าแบ่งคะแนนออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ คะแนนระดับ 1 ประเทศไม่ได้มาตรฐานตามตัวชี้วัด คะแนนระดับ 2 ประเทศได้มาตรฐานตามตัวชี้วัดเพียงบางด้าน คะแนนระดับ 3 ประเทศได้มาตรฐานตามตัวชี้วัดในหลายด้าน คะแนนระดับ 4 ประเทศได้มาตรฐานตามตัวชี้วัดส่วนใหญ่ และคะแนนระดับ 5 ประเทศได้มาตรฐานตามตัวชี้วัดทุกด้าน
โดยผลดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย : ประเทศไทย 2553 ในด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งเสรีภาพของสื่อที่ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างแข็งขัน ประเมินคะแนนเฉลี่ยได้ 2.6 คะแนน ด้านภูมิทัศน์ของสื่อ รวมถึงสื่อใหม่ ที่มีลักษณะของความหลากหลายเป็นอิสระและยั่งยืนมั่นคง ได้คะแนนเฉลี่ย 2.4 คะแนน ส่วนด้านการกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ที่มีความโปร่งใสและเป็นอิสระ มีการเปลี่ยนแปลงสื่อของรัฐให้เป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง ได้คะแนนเฉลี่ย 3.6 คะแนน และในด้านที่สื่อมีความเป็นวิชาชีพในระดับสูง ได้คะแนนเฉลี่ย 2.3 ซึ่งภาพรวมดัชนีชี้วัดในประเทศไทย ได้คะแนน 2.72 (จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) นับว่าผ่านการประเมิน
นายมาร์ค ศักซาร์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวถึงการจัดทำดัชนีชี้วัดฯ ครั้งนี้ว่า เป็นการประเมินตนเองจากผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อในเชิงลึกสำหรับการพิจารณาประชาธิปไตย ที่มุ่งหวังให้เกิดการอภิปรายต่อยอดอย่างกว้างขวางมากขึ้น
จากนั้น นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ โดย นายประสงค์ กล่าวว่า รายงานฉบับนี้สามารถสรุปเนื้อหาได้ดี และค่อนข้างเห็นด้วยเกือบทั้งหมด แต่สำหรับการข้อเสนอให้มีการนำเสนอข่าวที่มีความรุนแรง หมิ่นเหม่ ที่อาจเกิดปัญหากับฝ่ายยุติธรรมนั้น ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่การจะนำเสนอได้หรือไม่ แต่อยู่ความไม่เข้าใจการวิพากษ์วิจารณ์อย่างถูกหลักการ และรายงานแบบมีภววิสัย
“ทุกวันนี้สื่อใหม่ เป็นสื่อที่มีการเปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับผิดชอบ ไม่ระบุตัวตน ทั้งนี้ระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อจำกัดและยังถกเถียงกันอยู่มาก คือ มาตรา 112 ที่มีการระบุโทษรุนแรง แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่กระบวนการใช้กฎหมายของเจ้าหน้ายุติธรรม ที่อาจมีทัศนคติหรือถูกปลูกฝังมาในรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้นนอกจากจะพิจารณาตัวกฎหมายแล้ว จะต้องพิจารณาผู้ใช้กฎหมายด้วย”
ด้านนายอนุพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำหน้าที่ของสื่อในบรรยากาศที่กดดัน มีความหวาดกลัวทั้งกฎหมาย และพื้นที่อันตรายว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ เพราะไม่มั่นใจว่าหากนำเสนอไปแล้วจะได้รับความคุ้มครองในสิทธิจริงหรือไม่ ส่วนในด้านมาตรฐานวิชาชีพยังพบว่ามีการโยนไปมาระหว่างสถาบันการศึกษากับวิชาชีพ ถึงการผลิตบุคลากรที่ไม่มีมาตรฐาน หรือไม่ตรงตามความต้องการ อีกทั้งขณะนี้ที่มีการให้ความสำคัญถึงสิทธิเสรีภาพสื่อค่อนข้างมาก แต่ในทางกลับกันบทบาทการตรวจสอบเนื้อหาของสื่อ ให้มีการขับเคลื่อนเชิงประเด็นยังมีอยู่น้อย
ทั้งนี้ในเวทีอภิปรายจากผู้ที่มีส่วนร่วมผลิตรายงานมี นายจอน อึ้งภากรณ์ ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม นางศุภรา จันทร์ชิดฟ้า ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.บางกอกโพสต์ นายนคร ชมพูชาติ กรรมการบริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ และนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น ร่วมอภิปราย โดยเป็นการถกถึงสภาพปัญหาสื่อในปัจจุบัน และกล่าวถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของรายงาน
นายจอน กล่าวถึงข้อเสนอเกี่ยวกับเสรีภาพในสื่อออนไลน์ ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำให้ไม่มีเว็บไซต์ใดมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น อีกทั้งสื่อกระแสหลักยังเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่ง นายจอน มองว่า สื่อในขณะนี้ ‘เชื่องเหลือเกิน’
ด้านนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญบ่อยๆ เป็นจุดบอดที่สุดที่ทำให้การพัฒนาด้านสื่อของประเทศไทยล่าช้า ทั้งที่ประเทศไทยมีกลไกทางประชาธิปไตยมากกว่าบางประเทศที่อำนาจยังอยู่ที่รัฐบาล แต่ก็เป็นเหมือนจุดแข็งและจุดอ่อน เพราะจะเห็นได้ว่า แม้จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบางประเด็นที่หลายประเทศไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการถูกบังคับใช้กฎหมาย และพบกรณีที่ถูกดำเนินคดีได้มากกว่า นับเป็นความขัดแย้งในตัวเอง
ส่วนนายประวิตร กล่าวว่าสื่อมีบทบาทในการเลือกนำเสนอ และสามารถทำให้ประชาชนเลือกจำบางอย่าง และลืมเรื่องบางอย่างได้ ทำให้สื่อไม่สามารถที่จะเรียกตัวเองว่ากระจก หรือหมาเฝ้าบ้านได้อย่างแท้จริง ฉะนั้น การเลือกรายงานเพียงบางเรื่อง เปรียบเหมือนเป็นการปลูกพืชเชิงเดียวทั้งหมด
ด้านนายนคร กล่าวว่า สื่อมักไม่วิพากษ์วิจารณ์สื่อด้วยกันเอง ทั้งในมุมดีและไม่ดี ด้วยเพราะกลัวเสียผลประโยชน์ และเสียความสัมพันธ์ แต่ที่จริงแล้วนักข่าวควรมีอิสระในการนำเสนอ และแมลงวันต้องตอมแมลงวันด้วยกันเองได้