มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท เปิดดัชนีวัดสถานภาพสื่อไทย
ชี้การแข่งขันรุนแรงของอุตฯ สื่อ เป็นสาเหตุการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย บวกการเสนอเนื้อหาแบบเร้าอารมณ์ ยันสื่อระดับชาติวันนี้ให้ความสำคัญกับกรุงเทพฯ จนทอดทิ้งต่างจังหวัด ขณะที่ แผนบรอดแบนด์ฯ ก็ล้มเหลวไม่สามารถลดช่องว่างดิจิตอลระหว่างเมือง-ชนบทได้
มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย เตรียมเปิดแถลงข่าวเรื่อง “ดัชนีวัดสถานภาพสื่อเอเชีย:ประเทศไทย 2553” ณ โรงแรมเซนจูรี่ ปาร์ค ถนนราชปรารภ ในวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์นี้
เนื้อหาบางส่วน ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย ในรายงานการประเมินภูมิทัศน์สื่อของเอเชียจากมุมมองท้องถิ่น ประเทศไทย 2553 มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ในส่วนของ “ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนไทย” ประกอบด้วยสื่อหลายแขนง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ และสื่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมีสถานีวิทยุกระแสหลัก 524 สถานี และมีสถานีวิทยุชุมชนเกือบ 8,000 สถานี สื่อโทรทัศน์ ฟรีทีวี 6 แห่ง และมีผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 30 ราย เคเบิลทีวีอีก 800 ราย สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์มี 80 ฉบับ เป็นหนังสือพิมพ์ระดับชาติ 25 ฉบับ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 2 ฉบับ ภาษาจีน 1 ฉบับ และภาษามลายู 1 ฉบับ ในส่วนของสื่ออินเตอร์เน็ต มีไอเอสพี หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทางสายโทรศัพท์ 28 ราย และผู้ให้บริการไร้สาย 8 ราย
มุ่งขยายตลาด ลืมลดช่องว่างการเข้าถึงสื่อในชนบท
ในรายงานระบุว่า แม้ประชากรกว่าร้อยละ 95 จะสามารถเข้าถึงสื่อวิทยุและโทรทัศน์ได้ แต่ก็ปรากฎว่า การเข้าถึงสื่อประเภทอื่นๆ ยังมีช่องว่างมากระหว่างการเข้าถึงและความสามารถในทางเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงได้อย่างเป็นจริง โดยจะเห็นได้ว่า มีเพียงร้อยละ 1/3 ของประชากรที่เข้าถึงสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น และร้อยละ 15 ที่เข้าถึงสื่อเคเบิลทีวีได้ ร้อยละ 40 ที่เข้าถึงสื่อวิทยุชุมชนและวิทยุท้องถิ่นได้ สำหรับสื่ออินเตอร์เน็ตมีสัดส่วนการเข้าถึงร้อยละ 20-22
ทั้งนี้ ผลรายงานระบุถึงสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันด้วยว่า มุ่งขยายตลาดไปสู่สื่อใหม่ เช่นโทรทัศน์ดาวเทียม บริการข่าวสั้นทางเอสเอ็มเอส ผ่านโทรศัพท์มือถือ และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ แทนที่จะสนใจเรื่องการลดช่องว่างการเข้าถึงสื่อในชนบท ขณะที่การขยายตลาดในชนบทก็มักมองหาตลาดที่สามารถทำกำไรได้ และเน้นเนื้อหาด้านบันเทิง กีฬา และข่าวท้องถิ่น
ในส่วนของภาครัฐ แผนบรอดแบนด์แห่งชาติที่จัดทำโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้วางเป้าหมายให้ประชากรร้อยละ 50 สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ได้ภายใน 5 ปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำ ของช่องว่างดิจิตอลระหว่างเมืองและชนบทลงได้ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไม่มีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อภาคเอกชน ที่มีการปิดสื่อที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นที่แตกต่างจากความคิดเห็นกระแสหลัก
“รัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการด้านการกระจายเสียงฉบับใหม่ มีเจตนารมณ์ที่ชัดในอันที่จะปกป้องไม่ให้มีการกระจุกตัวในอุตสาหกรรมสื่อ โดยมีการวางแผนการจัดสรรคลื่นความถี่เสียใหม่ แต่เรื่องนี้สวนทางกลับความเป็นจริงในอุตสาหกรรมสื่อทุกวันนี้ ซึ่งถูกครอบงำโดยกิจการขนาดใหญ่ที่มุ่งหวังจะขยายการเป็นเจ้าของข้ามสื่อแบบครบวงจรให้มากที่สุด ขณะเดียวกันภาครัฐและกองทัพบกยังคงถือครองคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ส่วนใหญ่ไว้ ทำให้ระบบวิทยุและโทรทัศน์ไทยมีลักษณะพิเศษ ที่มีกิจการของเอกชน ภาครัฐ และสื่อสาธารณะอยู่ในระบบเดียวกัน ทำให้ภารกิจนี้ยากเหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา”
เนื้อหาสื่อ ตอกย้ำอคติทางเพศ -ค่านิยมชายเป็นใหญ่
ด้านเนื้อหาสื่อส่วนใหญ่ ตอกย้ำซ้ำเติมอคติทางเพศ และสะท้อนค่านิยมชายเป็นใหญ่มากกว่าสะท้อนความเท่าเทียมกันของหญิงชาย นอกจากนี้เนื้อหาของสื่อก็ไม่ได้สะท้อนเสียงของชนเผ่าต่างๆ หรือชนกลุ่มน้อย กลุ่มแรงงานอพยพและผู้อพยพ หรือคนที่มีความเชื่อแตกต่างกัน รวมทั้งคนที่ไม่มีสิทธิเสียงทางการเมืองอย่างเที่ยงธรรม
ในส่วนขององค์กรสื่อก็ไม่มีนโยบายในการส่งเสริมให้นักวิชาชีพ ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรมีความเข้าใจและตระหนักถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไม่มีนโยบายการจ้างที่ให้โอกาสหญิงชายเท่าเทียมกัน อีกทั้งองค์กรสื่อก็ไม่ได้พยายามที่จะเสนอภาพสะท้อนของชนเผ่าต่างๆ หรือชนกลุ่มน้อย หรือคนพิการอย่างเทียงตรงและเท่าเทียมกัน ดังนั้นการเลือกปฏิบัติจึงดำรงอยู่ทั้งในสภาพที่เปิดเผยและซ่อนเร้น
งบโฆษณาก้อนใหญ่ทุ่มไปที่ทีวี
เมื่อดูงบประมาณสื่อในตลาดโฆษณาที่มีขนาดใหญ่พอที่จะสนับสนุนสื่อหลากหลายแขนง กว่าร้อยละ 60 ของงบประมาณทั้งหมด เป็นงบโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ ซึ่งในตลาดนี้รัฐบาลสามารถเข้ามาแทรกแซงตลาดเนื้อหาของสื่อได้ โดยการใช้อำนาจให้คุณให้โทษกับสื่อที่ไม่เชื่อฟังหรือไม่สนับสนุนนโยบายของรัฐผ่านการจัดสรรงบประมาณโฆษณา วิธีการแทรกแซงส่วนใหญ่มักดำเนินผ่าน "ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ" ระหว่างรัฐบาลกับบรรณาธิการอาวุโส
การแข่งขันรุนแรงในทางธุรกิจของอุตสาหกรรมสื่อ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย รวมทั้งการเสนอเนื้อหาแบบเร้าอารมณ์ สื่อระดับชาติให้ความสำคัญกับกรุงเทพในฐานะที่เป็นศูนย์กลางระบบ และทอดทิ้งต่างจังหวัดที่ถูกมองว่าเป็นเพียงชายขอบ รายงานข่าวเจาะ หรือข่าวสืบสวนสอบสวนมีน้อย หรือเกือบจะไม่มี
โดยรวมแล้ว ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมสื่อไทยในปัจจุบันมีแหล่งที่มาของข่าวสารที่หลากลหาย และมีจำนวนมาก มีองค์การสื่อสารสาธารระที่เป็นอิสระอย่างน่าประหลาดใจ มีกลุ่มวิทยุชุมชนที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา และมีสาธารณชนที่หิวกระหายข้อมูลข่าวสารที่มีที่มาอย่างอิสระ แต่การแบ่งขั้วทางการเมืองของกลุ่ม "เสื้อเหลือง" และ"เสื้อแดง" ในช่วงก่อนและหลังการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ในปี 2553 ทำให้การปฏิรูปสื่อที่ยังไม่เกิดขึ้น ต้องชะงักไป