มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เปิดผลการศึกษา “แอบมองสื่อ”
10 เดือน เฝ้าศึกษานสพ. นิตยสาร ทีวี ภาพยนตร์ ให้พื้นที่ข่าวแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย กลุ่มชาติพันธุ์ และคนไร้รัฐ พบกรุงเทพธุรกิจ เนชั่นสุดสัปดาห์ ทีวีไทย ให้พื้นที่มากเป็นพิเศษ
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผลการศึกษาโครงการ “แอบมองสื่อ” ห้องปทุมวัน โรงแรมเอเชีย โดยมีนางสาวพรสุข เกิดสว่าง และนายเดชา น้อยมะลิวัน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน นำเสนอรายงานการศึกษา การนำเสนอภาพแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในสื่อมวลชนไทย ซึ่งทำการศึกษาระหว่างวันที่ 15 มกราคม -14 พฤศจิกายน 2553 ระยะเวลา 10 เดือน
นางสาวพรสุข กล่าวถึงคพรส. ว่า ทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย บุคคลที่มีชาติพันธุ์และยังไม่ได้รับสัญชาติไทย และคนไร้รัฐ โดยบุคคล 4 กลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกันแบบแยกกันไม่ได้ ซึ่งบางครอบครัวจะมีคนทุกสถานะดังกล่าวอยู่ หรือในชุมชนชายแดน มีคนทั้ง 4 กลุ่มอยู่ในชุมชนเดียวกันด้วยเสมอ
“ปัญหาคนเหล่านี้ในการเข้าถึงสิทธิและบริการต่างๆ ของรัฐไม่ได้ เพราะมาจากทัศนคติของสังคมไทย ที่ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องการศึกษา และการรับรู้ภาพตัวตนของคนกลุ่มนี้จากสื่อ รวมทั้งข่าวและบันเทิง”
นางสาวพรสุข กล่าวถึงการศึกษาเป็นประจำกับสื่อสิ่งพิมพ์ 11 ฉบับ มีทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารข่าว และนิตยสารทั่วไป รวมทั้งสังเกตจากรายการข่าว เกมโชว์ ในโทรทัศน์ และภาพยนตร์ สุดท้ายเปิดรับความคิดเห็นของคนรับสื่อ โดยโพสต์ทางเฟชบุค และเว็บบอร์ด โดยดูว่า สื่อให้พื้นที่กลุ่มเป้าหมายนี้มากน้อยแค่ไหน, พื้นที่นั้นเป็นเนื้อหาประเภทอย่างไร เช่นอาชญากรรม เศรษฐกิจ หรือเชิงวัฒนธรรม,บทบาทกลุ่มเป้าหมายในภาพของสื่อ คืออะไร เป็นผู้กระทำผิด ผู้ถูกกระทำ หรือผู้ได้รับประโยชน์ และความถูกต้องของบริบทข้อมูล ใช้คำเรียกกลุ่มชนถูกหรือไม่
ขณะที่นายเดชา กล่าวถึงการแอบมองสื่อเป็นระยะเวลา 10 เดือน พบว่า สื่อให้พื้นที่ข่าวกับกลุ่มเป้าหมายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกรุงเทพธุรกิจ เนชั่นสุดสัปดาห์ และทีวีไทย ให้พื้นที่มากเป็นพิเศษ
“นสพ.รายวัน 5 เล่ม ไทยรัฐ มติชน เชียงใหม่นิวส์ ไทยนิวส์ ผู้จัดการ พบว่า ไทยนิวส์ (นสพ.ท้องถิ่นของจ.เชียงใหม่ ที่มีแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย และกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่หนาแน่น) และไทยรัฐ ให้พื้นที่ต่อกลุ่มประชากรเป้าหมายมากที่สุดเฉลี่ยวันละ 1 ข่าว” นายเดชา กล่าว และว่า เมื่อเทียบระหว่าง ไทยนิวส์ กับเชียงใหม่นิวส์ ซึ่งเป็นนสพ.ท้องถิ่นเหมือนกัน พบว่า เชียงใหม่นิวส์ให้พื้นที่กลุ่มประชากรเป้าหมายน้อยกว่า
สำหรับนสพ.สุดสัปดาห์ นายเดชา กล่าวว่า เนชั่นรายสัปดาห์ให้พื้นที่กับกลุ่มประชากรเป้าหมายค่อนข้างมากในสัดส่วนเฉลี่ยต่อเล่ม ห่างกับมติชนรายสัปดาห์ มากพอสมควร ส่วนนิตยสาร รายการโทรทัศน์ รายการบันเทิงนั้น มีการนำเสนออยู่บ้างแต่ไม่สม่ำเสมอ
ส่วนภาพยนตร์ไทยในช่วงระยะเวลาศึกษา 10 เดือน พบ 5 เรื่องที่นำเสนอภาพแรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคล รวมถึงกลุ่มประชากรจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ โป๊ะแตก แยกทางนรก, ตุ๊กกี้เจ้าหญิงขายกบ, บุญชู 10 จะอยู่ในใจเสมอ, ชั่วฟ้าดินสลาย และสบายดี 2 ไม่มีคำตอบจากปากเซ ก็ได้ให้ภาพของความเป็นมนุษย์สามัญและความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ไม่ได้นำเสนอภาพในเชิงลบ
“สื่อได้ให้พื้นที่กับกลุ่มชาติพันธุ์ ถึงร้อยละ 43.60 แรงงานข้ามชาติ ร้อยละ 31.38 ขณะที่ผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ สื่อนำเสนอน้อยมาก”
ส่วนทัศนคติของผู้รับสื่อ ที่มีต่อประชากรเป้าหมายนั้น นายเดชา กล่าวว่า มีแนวโน้มผู้รับสื่อมีทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากมักได้รับข้อมูลมาจากข่าวอาชญากรรมและอุบัติเหตุ ซึ่งเชื่อมโยงกับความรุนแรง และถูกนำเสนอในฐานะผู้กระทำผิด หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด มากที่สุด ทั้งนี้ผู้รับสื่อมีแนวโน้มจะมีทัศนคติที่ดีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากได้รับทั้งพื้นที่เนื้อหาเชิงบวกและได้รับการนำเสนอในรูปแบบการใช้ภาษาเขียน พูด และภาพในเชิงชื่นชมอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา ได้มีข้อเสนอถึงทิศทางการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเอกชนกับสื่อมวลชนไทยในการสร้างความเข้าใจของสังคมไทยต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยให้ร่วมกันหาหนทางประสานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเปิดพื้นที่สื่อ รวมถึงพื้นที่เชิงบวกของกลุ่มประชากรเป้าหมาย โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว เช่น การใช้ชื่อเรียกกลุ่มชนให้ถูกต้องมาตรฐาน ความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมความเชื่อ เป็นต้น