‘นพ.ประเวศ’ แนะมหาวิทยาลัย ผนึกกำลังตั้งสถาบันแห่งชาติเฝ้าระวังสื่อ
ให้ นิสิต-นศ.ร่วมประเมิน เชื่อจะก่อให้เกิดเจตคติ ความรู้และทักษะผู้สื่อสารที่ดี หมอประเวศ ชี้วันนี้สื่อต้องเป็นกัลยาณมิตรสังคมไม่ใช่ ‘บาปนิมิต’ พร้อมหนุนผุดสถาบันที่ส่งเสริม และสนับสนุนนักข่าวอย่างครบวงจร
วันที่ 27 มกราคม เครือข่ายเท่าทันสื่อประเทศไทย จัดสัมมนาเท่าทันสื่อ ครั้งที่ 1 “ไทย-ทัน-สื่อ” ณ ห้องประชุมเจเจ ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าเจเจมอลล์ จตุจักร กรุงเทพ โดยมี รศ.ดร.โค ทม อารียา ประธานคณะกรรมการบริหารแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดงาน
รศ.ดร.โคทม กล่าวว่า ปัจจุบันแวดวงสื่อ มีเม็ดเงินไหลเข้ามาจำนวนมาก จะเห็นได้ว่า มหาเศรษฐีต่างชาติส่วนใหญ่หันมายึดครองสื่อ อีก ทั้งสื่อยังมีอิทธิพลทางการเมือง กระทั่งเกิดสงครามสื่อ ทั้งในแง่การโฆษณาและให้ข้อมูล ไม่ว่าจะสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ หรือที่ร้ายแรงอย่าง 'สื่อโทรทัศน์' ก็กำลังรุกรานชีวิตประจำวันและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น จึงอยู่ที่ผู้บริโภคสื่อว่าจะมีสติ มีการไตร่ตรอง โดยใช้หลัก ‘กาลามสูตร’ มากน้อยเพียงใด
รศ.ดร.โคทม กล่าวว่า สถาบันการศึกษา ภาคประชาชน ผู้บริโภคสื่อ ซึ่งตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ รวมทั้งเครือข่ายเท่าทันสื่อ อยากให้สังคมตระหนักรู้ว่า สื่อมีอิทธิพล ทั้งในระดับประเทศ สังคม ครอบครัว บุคคล และจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมต้องเท่าทันสื่อ เพราะหากไม่สามารถแยกสาร ข้อเท็จจริง ความเชื่อได้ ก็จะเกิดคล้อยตามไปโดยไม่รู้ตัว โดนสื่อขนาดใหญ่จู่โจม ฉะนั้น จะต้องใช้สื่อขนาดเล็กๆ เช่น สื่อมวลชนศึกษา หรือการรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) เพื่อ ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง รวมทั้ง การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กับต่างประเทศ ก็อาจจะได้รับข้อเสนอที่มีผลต่อไปในสังคมไทย เพื่อรวมพลังทางด้านสติปัญญา ทรัพยากรต่างๆ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในกระบวนการสื่ออย่างเป็นระบบ รู้เท่าทันสื่อ
จากนั้น ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ปาฐกถา หัวข้อ “เท่าทันสื่อสู่การปฏิรูปประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า สื่อต้องเป็นกัลยาณมิตรของสังคมไม่ใช่บาปนิมิต เพราะคำว่ากัลยาณมิตรนั้นหมายถึงผู้ชักนำไปสู่ความดีงาม ความเจริญหรือกุศล ทำให้ได้รับรู้ความจริงและทำให้มีปัญญา ตรงกันข้ามก็เป็นมิตรผู้นำบาปมาให้ ชักนำไปในทางเสื่อม ทำให้คลาดเคลื่อนไปจากปัญญา ดังนั้นสื่อที่ไม่เป็นกัลยาณมิตรของสังคมจะทำให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะ อันเป็นอกุศลมูล ทำให้สังคมเกิดความเสื่อม ขาดความพอดี ไม่สมดุล ขัดแย้ง รุนแรง วิกฤติ ตลอดจนเกิดมิคสัญญีกลียุคได้
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงสื่อสร้างสรรค์ หรือสื่อที่เป็นกัลยาณมิตรต่อสังคม แม้จะมีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่ก็มีความสำคัญอย่างอย่างยิ่งต่อการพัฒนา เพราะสื่อสร้างสรรค์ทำให้วิวัฒน์ สื่อไม่สร้างสรรค์ทำให้วิบัติ ซึ่งขณะนี้สื่อไม่ได้อยู่เป็นเอกเทศ แต่อยู่ในบริบทของสังคม ในสังคมระบบเศรษฐกิจบริโภคนิยมที่มุ่งกำไรสูงสุดและสังคมอำนาจนิยม
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงข้อเสนอต่อการพัฒนาบุคลากรด้านข่าวว่า คุณภาพ ความรับผิดชอบ และสวัสดิการของบุคลากรมีความสำคัญต่อสื่อสารสร้างสรรค์อย่างยิ่ง แต่กลับได้รับความเอาใจใส่น้อยมาก นักข่าวจึงเป็นผู้มีรายได้น้อย มีความรู้และประสบการณ์น้อย ทำให้ข่าวขาดคุณภาพ ดังนั้น จึงควรมีสถาบันที่ส่งเสริม และสนับสนุนนักข่าวอย่างครบวงจร
“เคยมีผู้กล่าวว่า ถ้ามีนักข่าวเก่งๆ สัก 1,000 คน ประเทศไทยจะเปลี่ยนได้ ซึ่งควรมีการพัฒนานักข่าวอย่างจริงจัง โดยการนำทุนจากมหาวิทยาลัยมาสร้างระบบพัฒนานักข่าวที่เก่งๆ ให้มีสวัสดิการที่ดี มีความก้าวหน้าในอาชีพ อย่างเข้าใจสภาพที่แท้จริงของนักข่าว เพื่อสร้างวุฒิสภาวะและประสบการณ์ เพราะระบบการสื่อสารมีองค์ประกอบและความซับซ้อนสูง ต้องการความเข้าใจทุกซอกทุกมุมจึงจะสามารถพัฒนาระบบสื่อสารสร้างสรรค์ได้" ประธาน คสป. กล่าว และว่า ควรมี สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสื่อสาร เป็นเครื่องมือทำนองเดียวกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รวมทั้ง สถาบันการศึกษา ก็มีความจำเป็นและรีบด่วน ที่จะต้องมีชั่วโมงวิเคราะห์ข่าวเป็นวิชาบังคับในการศึกษาทุกชั้น และทุกวัน เพื่อฝึกการวิเคราะห์ข่าวสารที่ได้รับในแต่ละวันอย่างมีวิจารณญาณ รวมทั้งมีการเชื่อมโยงการวิเคราะห์ข่าวที่โรงเรียนกับที่บ้าน ด้วยการให้ผู้เรียนกลับไปแลกเปลี่ยนกับคนในครอบครัว
ส่วนการจัดระบบติดตามเฝ้าระวังสื่อ (Media monitor) ในกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการและนักพัฒนาเอกชน ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า เป็นอีกข้อเสนอเพื่อสร้างและพัฒนาระบบติดตามเฝ้าระวังสื่อให้มีพลังมากขึ้น และปรับตัวไปเป็นสื่อสารสร้างสรรค์มากที่สุด รวมทั้งเสนอให้คณะวารสารศาสตร์และนิเทศศาสตร์ในทุกมหาวิทยาลัย รวมตัวกันตั้งสถาบันแห่งชาติ เพื่อติดตามเฝ้าระวังสื่อ หรือสถาบันประเมินการพัฒนาการสื่อสาร โดยมีนิสิต นักศึกษาเป็นผู้ร่วมประเมิน ซึ่งจะก่อให้เกิดเจตคติ ความรู้และทักษะผู้สื่อสารที่ดี เกิดจิตสำนึกที่ดีทางศีลธรรมของการสื่อสาร
"สังคมต้องปรับเปลี่ยนจากสังคมอำนาจไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยประชาชนสามารถกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารด้วยตนเอง เพราะสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาชีวิต สังคม เศรษฐกิจ การเมืองและสิ่งแวดล้อม”