'มานิจ’ เผยคนวิชาชีพกังวล ‘เงินอุดหนุน-ความเป็นอิสระ’ ในร่างกม.คุมสื่อ
นายกฯ ระบุ ข้อความห่วงใย การตั้งองค์กรขึ้นมา รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ในร่าง พรบ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ อาจมีผลต่อความเป็นอิสระ ย้ำชัดให้กฤษฎีกาพิจารณากม.องค์กรอิสระอื่นๆ ประกอบ ส่วนกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ก็ไม่ต้องการให้กม. "ส่งเสริม"ปนกับกม."กำกับควบคุม"
วันที่ 14 มกราคม สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดงานนายกรัฐมนตรีพบปะผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน โดยมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายมานิจ สุขสมจิตร ประธานกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) และกรรมการสมัชชาปฏิรูป ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ภายหลังที่มีการประกาศแผนปรองดอง และแผนปฏิรูปเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ขณะนี้ก็มีความคืบหน้า และความก้าวหน้าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการปฏิรูปสื่อ ขณะที่พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ก็มีบทบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคมแล้ว จากนี้ไปก็จะมีหน่วยงานไปดำเนินการที่จะให้มี กสทช. ขึ้นมาทำการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลต่อไป
ส่วนร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ที่มาจากคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ และการรับฟังความคิดเห็น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ผ่านคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีปมปัญหาที่อาจจะต้องช่วยกันปรึกษาหารือ ช่วยกันคิด แล้วจึงจะสะท้อนผ่านไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
“ด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้มีองค์กรและสำนักงานที่เข็มแข็งขึ้น ทำให้ในกฎหมายที่ร่างขึ้นมามีข้อกำหนดไว้ว่า ตัวสำนักงานเป็นนิติบุคคลและมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช้ส่วนราชการ และไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ในส่วนนี้ทางคณะรัฐมนตรีเห็นตรงกันว่า ไม่น่าจะเหมาะสม เพราะหน่วยงานนี้ควรจะเป็นองค์กรอิสระ ดังนั้นก็จะตัดออกไป โดยจะเป็นเรื่องขององค์กรอิสระคล้ายๆ กับบรรดาองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ ที่ทางสำนักงานกฤษฎีกาจะเป็นฝ่ายไปปรับหลักส่วนนี้ต่อไป”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างข้อกำหนดในตอนแรกเข้าใจว่า ต้องการให้เป็นหน่วยรับงบประมาณ ที่จะมีทั้งในส่วนทุนประเดิม และทุนอุดหนุน ซึ่งในทางหลักการรัฐบาลไม่ขัดข้อง แต่ก็ขอให้ทางกฤษฎีกาพิจารณาประเด็นดังกล่าวนี้ และปรับกฎหมายในรูปแบบที่จะไม่เป็นปัญหาในการถูกตีความว่าไปขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้ง เพื่อส่งเสริมมาตรฐานคุ้มครองคนที่ประกอบวิชาชีพ หรือคนที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของสื่อ รวมทั้งมีสำนักงานเป็นองค์กรอิสระ และรัฐสามารถที่จะให้อุดหนุนส่งเสริมตรงนี้ได้
สำหรับกองทุนสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยฯ ที่มีประเด็นว่าในช่วงที่กฤษฎีการไปดูแลกฎหมายนี้ ได้ไปเพิ่มลักษณะของการกำกับควบคุมสื่อที่ไม่ปลอดภัย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะตัดในส่วนนี้ออก เพราะไม่ต้องการให้กฎหมาย "ส่งเสริม" มาปนอยู่กับกฎหมาย "กำกับควบคุม" ซึ่งจะประสานกับกระทรวงวัฒนธรรมต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการปรับปรุง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ที่นับว่าเป็นเรื่องติดค้างมานาน เป็นประเด็นที่จะต้องพูดคุยกัน รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่จะช่วยกันทำงานเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ให้สื่อทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ เพราะเมื่อได้กฎหมายเกี่ยวกับสื่อมาแล้วก็จะได้มาช่วยกันดูแล
จากนั้น นายมานิจ กล่าวกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ภายหลังการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีและผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ในเรื่องกฎหมายคุ้มครองสื่อนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพได้แสดงความวิตกกังวล เรื่องความเป็นอิสระของหน่วยงาน และงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่าย ซึ่งตามร่างฯ กำหนดให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณดังกล่าว
“ทางผู้ประกอบวิชาชีพ เห็นว่า ถ้าไปรับงบจากรัฐบาล ก็ต้องไปรายงานกับรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่ควบคุมการใช้เงิน ทั้งนี้ การที่กรรมการร่างฯ ข้อกำหนดดังกล่าว เพราะคิดว่า การเอาเงินจากที่อื่นไม่น่าจะเป็นไปได้และเหมาะสม อาทิ บางคนเสนอให้เอาเงินจากต่างประเทศ เรียกเก็บจากสมาชิก หรือแบ่งรายได้จากภาษีที่รัฐบาลเก็บจากบริษัทธุรกิจที่ทำสื่อ ไม่ว่าจะสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเลคทรอนิกส์ ซึ่งที่ผ่านมา ไม่ได้ความร่วมมือเท่าที่ควร ดังนั้น ทางกฤษฎีกา จึงแนะนำให้ดึงงบประมาณจากรัฐ”
กรรมการปฏิรูป กล่าวต่อว่า สำหรับความเห็นส่วนตัว อยากให้งบประมาณมาจากผู้ประกอบวิชาชีพมากกว่า โดยหน่วยงานใดที่ต้องการขอรับความคุ้มครอง จะต้องให้เจ้าของหน่วยงานจ่ายเงินสมทบทุน โดยคิดเฉลี่ยเป็นรายหัวต่อปี เช่น บริษัทมีพนักงาน 2,000 คน ก็คิดรายละ 50 บาท ซึ่งแนวคิดเช่นนี้จะทำให้การใช้งบประมาณ ไม่ต้องรายงานต่อสภาฯหรือหน่วยงานภาครัฐ
ส่วนเรื่องความเป็นอิสระของหน่วยงาน นายมานิจ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเห็นว่าจะต้องมีการจัดตั้งสำนักงาน และองค์กรต้องเป็นอิสระ รวมทั้งรัฐต้องให้การสนับสนุน ซึ่งทางคณะกรรมการก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ แต่จะเขียนกฎหมายให้ออกมาอย่างไร โดยให้สามารถคงไว้ในเรื่องหลักการ การคุ้มครองการทำงานของสื่อจนกว่าจะออกเป็นกฎหมาย
“จะทำอย่างไรให้องค์ประกอบไม่ทำให้เราเสียความเป็นอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ขณะเดียวกันต้องให้ความคุ้มครองแก่สื่อที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรรมการจากฝ่ายหนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ อิเล็กทรอนิกส์มีเดีย และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งสิ้น 11 คน ” นายมานิจ กล่าวว่า และว่า นายกรัฐมนตรีได้รับปากแล้วว่าจะผลักดันกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาฯ ให้ทันอายุรัฐบาลนี้