ครม.เห็นชอบกม. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ สื่อ
'จักร์กฤษ เพิ่มพูล' เชื่อสามารถเป็นหลักประกันการใช้สิทธิอย่างเสรี โดยไม่ต้องพึ่งกม.คุ้มครองแรงงานเหมือนเก่า 'มานิจ สุขสมจิตร' เผยกฏหมายจะกำกับดูแลสื่อทุกแขนงที่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่จะไม่ช่วยเหลือกรณีแสดงความเห็นส่วนตัวผ่านสื่อออนไลน์
วันที่ 4 มกราคม นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
นายวัชระ กล่าวว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงาน ครม. ว่า ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ เกิดจากการยกร่างจากตัวแทนสื่อ ตัวแทนสมาคมวิชาชีพต่างๆ ซึ่งทำงานร่วมกันเป็นคณะกรรมการ อีกทั้งมีการรับฟังความคิดเห็นของสื่อทั้ง 4 ภาคแล้ว จากนั้นมีการนำกลับมารับฟังความคิดเห็นของสื่อในกรุงเทพมหานคร และนำร่างดังกล่าวสู่คณะกรรมการฯ ชุดนายสาทิตย์ ก่อนนำส่งครม.
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว นายวัชระ กล่าวว่า มีการกำหนดนิยามของผู้ประกอบวิชาชีพ สื่อมวลชน มีการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีการคุ้มครองประชาชนจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบและรับหลักการทางกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริม มาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... ในส่วนของสำนักงานและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมีการพิจารณาอย่างกว้างขวาง จะทำอย่างไรไม่ให้ขัดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อสรุปกันว่า สำนักงานหรือองค์กรของภาคสื่อ ครม.เห็นสมควรให้ไม่ให้สังกัดหน่วยงานของรัฐ เป็นองค์กรวิชาชีพอิสระ เช่นเดียวกับสภาทนายความ โดยให้หาแนวทางให้รัฐมีงบประมาณจัดสรรอุดหนุนองค์กรภาควิชาชีพสื่อมวลชนดังกล่าว
ขณะที่นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ตัวแทนคณะทำงานปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน กล่าวถึงร่างกฏหมายฉบับนี้ ว่า มีส่วนช่วยทำให้กฏหมายรัฐธรรมนูญตามมาตรา 46 ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเนื้อหาโดยรวมนั้นมีความครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากคณะกรรมการได้พิจารณาร่างกฏหมายอย่างถี่ถ้วน และเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะสามารถเป็นหลักประกันในการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อได้อย่างถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องใช้กฏหมายคุ้มครองแรงงานเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ร่างกฏหมายฉบับนี้ยังเข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานในการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ เนื่องจากสื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อมูลที่นำเสนอประกอบกับต้องปฏิบัติตามกรอบของจริยธรรมอย่างเคร่งครัด
“หลายคนเป็นห่วงว่าจะเป็นการเปิดช่องว่างให้ผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงสื่อ ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมห่วงใยกันได้ แต่ต่อไปนี้หากเกิดการแทรกแซงขึ้นจริง เราไม่ต้องต้องวิ่งไปหาศาลแรงงาน ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ใช้เวลาหลายปี บางทียาวนานถึงขั้นบริษัทต้นสังกัดปิดกิจการหรือลูกจ้างถอดใจถอนฟ้อง แต่ร่างกฏหมายฉบับนี้จะทำให้กระบวนการตรวสอบฉับไวมากขึ้น และมีแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยาขั้นต้นชัดเจนขึ้น” นายจักร์กฤษ กล่าว
ด้านนายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน และกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของร่างกฏหมายฉบับดังกล่าว ว่า สามารถคุ้มครองเสรีภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่นำเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ส่วนในกรณีการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวบนสื่อออนไลน์นั้น จะไม่สามารถได้รับสิทธิคุ้มครองดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
ส่วนข้อสงสัยว่าจะเป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดการแทรกแซงทางอำนาจหรือไม่นั้น นายมานิจ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฏหมายของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเห็นการแทรกแซงทางอำนาจ แต่เหมือนที่เรามีกฏหมายห้ามฆ่าคน แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีการฆ่าฟันกันอยู่ ซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ที่การบังคับใช้กฏหมายขอเจ้าหน้าที่ ว่าจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ไม่เช่นนั้นแล้วกฏหมายจะกลายเป็นเพียงกระดาษอยู่เช่นนั้น
ทั้งนี้ หลักการสำคัญที่ให้มีการตรากฎหมายฉบับนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติให้ลูกจ้างของเอกชน ที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าว และแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดของตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมของการประกอบอาชีพ และมีสิทธิ์จัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีอยู่ 7 หมวด ด้วยกันคือ
1.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 2.จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 3.คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 4.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 5.การวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน
6.มาตรการส่งเสริมมาตรฐาน ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 7.โทษทางปกครอง
สำหรับในเรื่องจริยธรรม ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ได้บัญญัติให้มีรายละเอียดอย่างน้อย 5 ข้อคือ 1.การเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ 2.การเสนอความจริงด้วยความถูกต้องและครบถ้วนรอบด้าน 3.การให้ความเป็นธรรมต่อผู้ตกเป็นข่าว 4.การเคารพสิทธิมนุษยชน ของผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าว 5.การซื่อสัตย์ สุจริตต่อวิชาชีพสื่อมวลชน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน