ปี 2553 “ปีแห่งความยากลำบากในการทำหน้าที่สื่อ”
สมาคมนักข่าวฯ สรุปการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนไทยรอบปี 2553 ระบุ ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่สื่อถูกตั้งคำถามถึงบทบาทการทำหน้าที่ คนจำนวนไม่น้อยมองสื่อคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2553 ดังนี้ สืบเนื่องจากปี 2553 ถือเป็นปีที่ท้าทายการทำงานของสื่อมวลชนไทย จากเหตุการณ์ที่เกิดความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ จนนำมาสู่ความรุนแรง สื่อมวลชนต้องตกอยู่ในฐานะที่ไม่ต่างไปจากตัวประกันและถูกกดดันจากคู่ความขัดแย้งทุกฝ่าย
ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่สื่อมวลชนถูกตั้งคำถามถึงบทบาทการทำหน้าที่ว่า มีความเป็นธรรมและเป็นกลางหรือไม่ ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือเพื่อประโยชน์ของใคร ในขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังมองว่า สื่อมวลชนคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นปีที่คนทำสื่อต้องยึดในหลักการแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน และยึดมั่นในการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน รวมทั้งการเปิดพื้นที่ใหั้กับทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม เป็นสิ่งที่ท้าทายจนยากยิ่งที่จะแยกแยะได้ว่า เรื่องใดเท็จเรื่องใดจริง
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำรายงานสรุปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยในรอบปี 2553 ที่กำลังจะผ่านไปไว้ดังนี้
1.เสรีภาพในการทำข่าวภายใต้ความรับผิดชอบ จากกรณีการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ทั้งภายในกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง และภายในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สื่อมวลชนต่างถูกจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ดังตัวอย่างที่มีให้เห็นบ่อยครั้งว่า แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ไว้วางใจผู้สื่อข่าว จนก่อให้เกิดการกระทบ กระทั่งกัน ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
2.ความปลอดภัยและการเยียวยาสภาพจิตใจของนักข่าว เมื่อขาดความไว้เนื้อเชื่อใจและมีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความไม่ปลอดภัยในสวัสดิภาพการทำงาน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของสื่อมวลชนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การทำข่าวของประเทศไทย ที่กลุ่มผู้สื่อข่าวต้องใส่เสื้อเกราะและอุปกรณ์ป้องกันภัยต่างๆ แต่ในที่สุดก็เกิดความสูญเสียขึ้น โดยเฉพาะนักข่าวและช่างภาพจากต่างประเทศต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม มีนักข่าวและช่างภาพจากสื่อมวลชนไทยได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ผลที่ตามมายังได้ก่อให้เกิดบาดแผลขึ้นภายในจิตใจ ซึ่งยากจะเยียวยาให้ฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ ผู้สื่อข่าวจำนวนไม่น้อยยังตกอยู่ในอาการหวาดผวาและรอคอยการเยียวยาสภาพจิตใจอย่างถูกต้องตามหลักจิตวิทยา
3.ความเป็นมืออาชีพในการทำงานในสถานการณ์ความรุนแรง เหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมาไม่มีใครคาดคิด ไม่มีการเตรียมตัวเตรียมใจว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์รุนแรงเช่นนี้ ต้องยอมรับว่า ผู้สื่อข่าวไทยยังขาดความพร้อมในการรายงานข่าวภายในสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยความ“รอบคอบ รอบด้าน” ดังนั้น การฝึกอบรมผู้สื่อข่าวให้มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
4.การปิดกั้นเสรีภาพสื่อมวลชน ในส่วนของการทำหน้าที่ “สื่อมวลชน” ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ยังคงยืนยันในหลักการเรื่องเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ไม่สนับสนุนให้มีการปิดกั้นสื่อมวลชนทุกรูปแบบ ในขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนงมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย หากพบว่า สื่อใดกระทำการละเมิดกฎหมายก็ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายในการดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช้วิธีการอื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน
5.สื่อการเมือง-สื่อรัฐนำไปสู่ความขัดแย้ง นอกจากนี้ ได้เกิดปรากฎการณ์ของสื่อการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมากมาย และถูกนำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง ทำให้สื่อเหล่านี้มีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน โทรทัศน์ดาวเทียม เว็บไซต์ ที่มีการนำเสนอความคิดเห็นและความเชื่อมากกว่า “ความจริง” ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่มีข้อมูลอย่างรอบด้าน ในทางตรงกันข้ามกลับนำเสนอข้อมูลในลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อ มีอคติ ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก เกลียดชัง จนถึงขั้นการทำลายล้างต่อฝ่ายที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกับตัวเอง ในขณะที่สื่อมวลชนของรัฐถูกรัฐบาลแทรกแซงการทำหน้าที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้เกิดการปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในรูปแบบต่างๆ ยังไม่นับรวมถึงการปิดกั้นสื่อออนไลน์ที่ขาดความชัดเจนว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่
ดังนั้น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอสรุปว่า ในปี 2553 ที่กำลังจะผ่านไปถือว่าเป็น “ปีแห่งความยากลำบากในการทำหน้าที่สื่อ” ของสื่อมวลชนไทย ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการปรับตัวและเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในการรายงานข้อมูลข่าวสารได้อย่างครบถ้วน รอบด้านไปสู่สาธารณชน และยึดมั่นให้หลักของจริยธรรมวิชาชีพด้วย