โลกออนไลน์กระหน่ำสาวควบเก๋งเสยรถตู้ อ.นิเทศฯ ชี้เขย่าวาระข่าวสื่อหลัก
ช่วยถ่วงดุล-ตรวจสอบการทำงานของสื่อ ดร.มานะ แนะเสพข่าวในโลกออนไลน์ ต้องมีการประมวลโดยรวมด้วย อย่าเชื่อทั้งหมด
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน กรณีอุบัติเหตุส่งท้ายปีที่เด็กวัย 16 ปีขับรถเก๋งชนรถตู้โดยสารบริเวณทางด่วน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ และมีผู้เสียชีวิตทันทีจำนวน 8 ราย ต่อมาเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย จนกระทั่งกลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงและตั้งคำถามอย่างมากในโลกออนไลน์
ดร.มานะ กล่าวถึงการทำงานของสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ส่วนใหญ่เน้นเสนอข่าวเรื่องความปลอดภัยของรถตู้เป็นหลัก จนละเลยไม่ให้มิติด้านคนขับรถเก๋งซีวิค ทำให้ผู้คนที่รับชมข่าวต้องตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย (Social media) โดยมีการตั้งกลุ่มบนเฟซบุ๊ก และมีการโพสต์รูปเหตุการณ์จำนวนมากมาย สิ่งเหล่านี้อาจทำให้สื่อกระแสหลักต้องหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองเช่นกันว่า สื่อกระแสหลักละเว้นการตั้งคำถามเหล่านี้ไปได้อย่างไร
“สื่อบางรายอาจทำไปโดยไม่ได้ฉุกคิด บางส่วนอาจคำนึงถึงเรื่องสิทธิทางกฎหมายของเด็ก แต่การละเว้นไม่พูดถึงพ่อแม่ที่ปล่อยปละให้เด็กอายุเพียงแค่ 16 ปีมาขับรถ หรือความไม่เข้มงวดของกฎหมายจราจร โดยเน้นให้น้ำหนักกับเรื่องรถตู้ ซึ่งเห็นด้วย แต่ก็มีหลายเรื่องที่ขาดหายไป จนกระทั่งเกิดคำถามว่า สื่อบางสื่ออาจทำเมิน เพราะเห็นว่านามสกุลใหญ่โตใช่หรือไม่”
สำหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์นั้น ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ กล่าวว่า คำถามต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้นในเฟชบุ๊กและทวิตเตอร์ สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันข้อเท็จจริงไม่ได้ถูกผูกขาดโดยสื่อกระแสหลักอีกต่อไปแล้ว โดยเชื่อว่ากระแสของโลกออนไลน์ก็จะผลักเข้าไปที่สื่อกระแสหลัก ไม่วันนี้ วันพรุ่งนี้ สื่อกระแสหลักก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเล่นประเด็นที่เกี่ยวกับคนขับรถเก๋ง เนื่องจากมีแรงกดดันจากสังคมตามมา
“สื่อกระแสหลัก ไม่ได้เป็นผู้กำหนดวาระ (Agenda) ข่าวเหมือนแต่ก่อน คือเมื่อก่อนสามารถเป็นกำหนดวาระข่าวได้ แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ เพราะว่ามีกระแสโซเชียลมีเดีย และกระแสอื่นๆ ทางสังคมที่มีมุมมองของข้อเท็จจริงที่ต่างกันออกไป และสามารถสร้างกระแสได้ ฉะนั้น จึงมีผลต่อการปรับกำหนดวาระข่าวของสื่อกระแสหลัก”
อาจารย์ประจำสาขาวารสารศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวอีกว่า ในฐานะผู้เสพข่าวสารก็จะต้องมีการประมวลโดยรวม ทั้งจากสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย เนื่องจากข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด อาจมีการปล่อยข่าว หรือหลอกลวงกัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ทำให้ความสมดุลของข้อมูลเกิดขึ้นในสังคม ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีการตรวจสอบข้อมูลในประเด็นที่สื่อกระแสหลักมีการละเลย