สสย.เปิดเวทีสาธารณะเร่งผลักดันกม.กองทุนสื่อฯ ผ่านกฤษฎีกาเข้าครม.ปีหน้า
สสย.จัดเวทีสาธารณะ ดันร่าง พ.ร.บ. กองทุนสื่อฯ ผ่านกฤษฎีกา เข้าสู่ครม. ปีหน้า 'มานิจ' เชื่อผลักดันสำเร็จ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เยาวชน ด้าน ‘เข็มพร’ มองสถาบันเบ้าหลอมเด็กอ่อนแอลงทุกระดับ ร่วมมือ ศธ. สร้าง ‘ทีวีสาธารณะ’ ดึงครอบครัวร่วมเฝ้าระวังสื่อ
วันที่ 22 ธันวาคม กลุ่มบ้านรักดี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) จัดเวทีสาธารณะ “จับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ” และการเสวนา "กองทุนสื่อฯ กับการหนุนอนาคตชาติ" ณ ห้องกิ่งเพชร โรงแรมเอเชีย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้กองทุนดังกล่าวเป็นไปตามความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง
โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการสมัชชาปฏิรูป ในฐานะประธานคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป และประธานคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน (คพส.) เปิดการสัมมนา และ ว่า อยากเห็นสังคมร่วมผลักดันให้ร่างกฎหมายกองทุนสื่อฯ นี้ ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกา เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2554 มิเช่นนั้น จะยาวนานด้วยกระบวนการ และข้อกฎหมาย ซึ่งหากสามารถผลักดันออกมาได้สำเร็จเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติโดยเฉพาะเยาวชนของชาติ และจะเป็นตัวอย่างต่อประเทศอื่นๆ ต่อไป
นายมานิจ กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุดของกระบวนการผลักดันกองทุนสื่อสร้างสรรค์ คือ ต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้ และเข้าใจถึงเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ อย่างกว้างขวาง รวมถึงให้มีส่วนในการร่วมผลักดันได้ เพราะปัจจุบันสื่อกระแสหลักไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านความรู้ ความสามารถของเด็กเยาวชนได้ ความหวังจึงอยู่ที่กองทุนสื่อสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นนี้
ด้านนางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า ปัญหาเด็กและเยาวชน บางส่วนมีผลกระทบมาจากเรื่องของสื่อโดยตรง ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาวะ ร่างกาย และจิตใจ ซึ่งเบ้าหลอมของเด็กและเยาวชนขณะนี้อ่อนแอลง ทั้งในระดับจุลภาค ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน อีกทั้งยิ่งสื่อมีอิทธิพลมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งกระทบต่อโครงสร้างในระดับพื้นฐานแวดล้อมเด็กมากขึ้นเท่านั้น
“โครงสร้างและทิศทางในการพัฒนาในประเทศเรายังมีปัญหาที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงในหลายๆ ด้าน และเด็กที่เติบโตมาจากเบ้าหลอมที่อ่อนในสถาบันต่างๆ ก็เป็นเด็กที่น่าเป็นห่วง สื่อจึงควรจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ และเติบโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเราอยากเห็นกระบวนการใช้สื่อสร้างสรรค์มาสร้างการเรียนรู้ หรือการปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะขณะนี้ที่สังคมเรากำลังพูดถึงเรื่องการปฏิรูปกันอยู่มาก จึงเป็นโจทย์ว่า เราจะทำอย่างไรเด็กจะได้เรียนรู้จากสื่อที่มีคุณภาพ สร้างจินตนาการ จิตสำนึกและทัศนคติใหม่ๆ รวมถึงได้เรียนรู้กระบวนการสื่อมวลชนศึกษา เพื่อให้เท่าทันและสามารถคิดวิเคราะห์ มีส่วนร่วมในการผลิตสื่อ”
นางสาวเข็มพร กล่าวถึงการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการผลักดันเรื่องโทรทัศน์สาธารณะ ที่จะเป็นช่องเพื่อเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง ซึ่งกองทุนสื่อสร้างสรรค์น่าจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาตัวระบบของสื่อ ไม่ใช่แค่การสนับสนุนให้เกิดงานดีๆ เท่านั้น
“เราอยากเห็นกลไกของครอบครัว และชุมชน ที่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง หรือช่วยกันพัฒนาสื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน และสร้างเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ให้เด็กได้เรียนรู้มากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงทรัพยากรและพัฒนาตัวระบบสื่อ รวมถึงทำให้เกิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์และลดพื้นที่เสี่ยงคือสิ่งที่เราคาดหวังในการจัดตั้งกองทุนสื่อฯ”
ส่วนดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน กล่าวว่า การปฏิรูปในด้านอื่นๆ ดำเนินการคืบหน้าไปมากแล้ว ที่เห็นได้ชัดคือ การปฏิรูปการเมือง การศึกษา และระบบสุขภาพ แต่การปฏิรูปสื่อยังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ตลอด เพราะสื่อเป็นแขนงที่มีผลประโยชน์มหาศาล ดังนั้นเจตนาที่สำคัญที่สุดของกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คือ หวังผลให้เกิดรายการที่เผยแพร่ทางสื่อสารมวลชนที่เป็นรายการที่มีผลในการพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพครอบครัว