เดินหน้าปฏิรูปประเทศ นักวิชาการส่งผลวิจัย 'ปฏิรูปสื่อ' ถึงมือนายกฯ
"อภิสิทธิ์" ระบุ ต้องการให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง ผ่านการแสดงความคิดเห็น ร่วมรับฟังจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เล็งนำไปใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนปรองดองแห่งชาติ คาดจะประกาศใช้ช่วงต้นปี
วันที่ 16 ธันวาคม ณ ห้องเมจิก 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดี รังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด และร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานวิจัย ในหัวข้อ แผนการดำเนินงานการปฏิรูปสื่อ ซึ่งจัดโดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสื่อของรัฐ พร้อมด้วย รศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ และภาคประชาชน คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการด้านสื่อ ตลอดจนสื่อมวลชนมาร่วมงาน
รศ.ดร.ยุบล กล่าวว่า การนำเสนอผลการศึกษาวิจัย แผนการดำเนินงานการปฏิรูปสื่อในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลที่จะผลักดันให้เกิดความปรองดองในชาติและการปฏิรูปประเทศไทย โดยได้มีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนภาควิชาการ และประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย เพื่อเป็นทางออกในการฟื้นฟูและนำบ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติและการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปรองดองในชาติและเดินหน้าสู่การปฏิรูปประเทศ สำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยได้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชน กลุ่มองค์กรกำกับดูแลสื่อ กลุ่มวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชน กลุ่มองค์กรวิชาชีพสื่อ และกลุ่มผู้บริโภคสื่ออย่างนี้เป็นต้น
จากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อว่า รัฐไม่เคยคิดแทรกแซงเรื่องเสรีภาพของสื่อตามรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่า สื่อควรมีองค์กรที่กำกับดูแลกันเอง และขณะนี้กฎหมายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ผ่านขั้นตอนของรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลกำลังดำเนินการเมื่อกฎหมายประกาศใช้เร่งรัดในกระบวนการตั้งแต่การได้ตัวองค์กรมาจนถึงการดำเนินการเพื่อที่จะให้บทบัญญัติที่เรียกว่า กฎหมายรองหรือกฎระเบียบต่างๆ ดำเนินการได้รวดเร็วที่สุด
ในส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ตัวร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ขอไปทำประชาพิจารณ์และทำความคิดเห็นเพิ่มเติมตามที่ผู้เกี่ยวข้องท้วงติง ซึ่งรัฐบาลได้พยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาให้ทันในสมัยประชุมที่จะถึงนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการจะต้องมีการทบทวนในรายละเอียดและปัญหาในทางปฏิบัติ รวมทั้งปัญหาเรื่องวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี และการใช้คลื่นวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ซึ่งคาดว่าในปีหน้าจะเห็นความก้าวหน้าในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นความต้องการให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง ผ่านการแสดงความคิดเห็น และร่วมรับฟังจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนปรองดองแห่งชาติ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยซึ่งจะได้มีการประกาศใช้ในช่วงประมาณต้นปีหน้าต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานการปฏิรูปสื่อ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ และการปฏิรูปประเทศ โดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอผลวิจัยเรื่องแนวทางการปฏิรูปสื่อในมุมมองขององค์กรกำกับดูแลสื่อ โดยชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันเนื้อหาที่นำเสนอในสื่อยังมีสัดส่วนบันเทิงมากกว่า สาระ และขาดแคลนข่าวประเภทเจาะลึก สืบสวนสอบสวน
เนื้อหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงนั้น ผลวิจัยพบว่า สื่อเป็นผู้สร้างความแตกแยกเอง และมักนำเสนอความขัดแย้ง ความรุนแรง เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ดังนั้นในกระบวนการทำงานนักข่าว สื่อควรคำนึงถึงผลกระทบ และความเหมาะสม รวมถึงการนำเสนอวิธีแก้ปัญหาอย่างสันติ เพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมให้สังคม
สำหรับการเล่าข่าว ผลวิจัยของจุฬาฯ พบว่าไม่สามารถทดแทนการอ่านข่าวได้ เพราะเป็นความบันเทิง ไม่ใช่ข้อเท็จจริง มีการแทรกความคิดเห็น ปลูกฝังความคิดให้แก่ผู้ฟัง ส่วนเรื่องการนำเสนอเนื้อหา ผลวิจัยชี้ว่า สื่อต้องให้ความสำคัญกับจรรยาวิชาชีพ และมีความรับผิดชอบต่อความถูกต้องมากกว่าความเร็ว รวมถึงการเคารพสิทธิส่วนบุคคลด้วย
ขณะเดียวกันภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศษสตร์ นำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีต่อการปฏิรูปสื่อ พบว่าสื่อที่ผู้ประกอบวิชาชีพเปิดรับมากที่สุด คือ ช่อง 3 และไทยรัฐ ซึ่งในประเด็นเรื่องการสร้างความแตกแยกในสังคมนั้นมีความเห็นเอาไว้ 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกมองว่าสื่อเป็นตัวเร่งปฏิกริยา, กลุ่มที่ 2 มองว่าสื่อเป็นตัวเสริมให้ขัดแย้งมากขึ้น, และกลุ่มสุดท้ายมองว่าสังคมแตกแยกอยู่แล้ว สื่อแค่ทำหน้าที่รายงานไปตามข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีความเห็นตรงกันการทำงานของสื่อใน ยุคที่สังคมมีความแตกแยกทางความคิด แบ่งเป็นสีเหลือง-สีแดง ทำงานยากกว่าวิกฤตการเมืองที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะเรื่องการหาข่าว และการนำเสนอข่าว
สำหรับเรื่องการปฏิรูปสื่อนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นว่าควรปรับสภาการหนังสือพิมพ์ และสมาคมนักข่าว ให้เป็นองค์กรอิสระมากำกับดูแล คือ เดิมพวกฟรีทีวี และสถานีวิทยุต่างๆ รวมถึงที่เป็นเคเบิ้ล และอินเทอร์เน็ต โดยให้องค์กรอิสระนี้ทำหน้าที่ควบคุมจริยธรรม ตรวจสอบสื่อด้วยกัน และดูแลเรื่องสวัสดิการ สวัสดิภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยให้รัฐขายกิจการโทรทัศน์ และคลื่นวิทยุกระจายเสียงของรัฐให้เอกชนทำแทน เพื่อนำเงินที่ได้มาตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนความอิสระ