คอป.เปิดโต๊ะถกบทบาทหน้าที่สื่อในปัญหาขัดแย้ง
ชี้บางสื่อนำเสนอข่าวด้านเดียวมากกว่าให้ข้อเท็จจริง แนะสังคมต้องแยกแยะใช้ความรู้ตัดสินใจแทนความรู้สึก ด้านวิชาชีพต้องตระหนักในบทบาทหน้าที่อย่างรัดกุม พร้อมแนะสร้างจิตสำนึกสาธารณะร่วมกันเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ
วันที่ 15 ธันวาคม คณะอนุกรรมการด้านการศึกษาวิจัยและกิจกรรมทางวิชาการ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “ปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งและแนวทางสู่ความปรองดอง : มิติด้านสื่อสารมวลชน” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนสื่อมวลชนและนักวิชาการทั้งด้านนิเทศศาสตร์และนิติศาสตร์เข้าร่วมประชุม
ในที่ประชุมมีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยระบุว่า มีสื่อหลายองค์กรที่นำเสนอข่าวด้านเดียว และที่สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระสืบเนื่องมาจากถูกแทรกแซงโดยอำนาจทุนและอำนาจรัฐ ตลอดจนในยุคบริโภคนิยมก็ทำให้สื่อต้องนำเสนอข่าวตามความต้องการของผู้บริโภคข่าวสาร เกิดการนำเสนอข่าวความรุนแรง จนก่อให้เกิดความขัดแย้งมากกว่าการให้สาระความรู้หรือข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นๆ ขณะที่รายได้หลักของสื่อมาจากการโฆษณาของหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมนักการเมือง ยิ่งทำให้สื่อถูกครอบงำได้ง่ายขึ้น
ในส่วนของการนำเสนอข่าวสารให้รอบด้านนั้น ในที่ประชุมเห็นว่า ผู้รับสารต้องรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจด้วยความรู้ความเข้าใจมากกว่าความรู้สึก แม้ว่าขณะนี้ จะมีการจัดตั้งองค์กรเฝ้าระวังสื่อก็ตาม แต่ยังขาดการรณรงค์เพื่อเข้าไปกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคมที่จะต้องหันมาตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมากขึ้น ขณะที่การใช้คำยั่วยุ หรือรุนแรง จนบิดเบือนข่าวสารเกินความเป็นจริงนั้น สังคมต้องแยกแยะว่า เป็นบุคคลใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง หรือผู้ที่มีวิชาชีพสื่อทั่วไป
ด้านบทบาทหน้าที่ของสื่อ ในการประชุมรับฟังความคิดเห็น มีข้อเสนอว่า ผู้สื่อข่าวควรมีหน้าที่นำเสนอข่าวเพียงอย่างเดียว ในส่วนการวิพากษ์วิจารณ์นั้นควรเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สื่อข่าวบางคนไม่ได้จบการศึกษาจากนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน จึงทำให้ไม่ตระหนักถึงบทบาทและจริยธรรมในวิชาชีพ แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการฝึกอบรมและให้ความรู้ในเรื่องนี้มากมาย แต่ก็ไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง จึงต้องอาศัยความรับผิดชอบของเจ้าขององค์กรวิชาชีพให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
ส่วนทัศนคติของสื่อนั้น การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีการนำเสนอให้พัฒนาจิตสำนึกสาธารณะร่วมกันทั้งสังคม ไม่เฉพาะเจาะจงแค่เพียงผู้ทำงานด้านสื่อเพียงอย่างเดียว วงการวิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาชน หรือภาครัฐต้องเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ร่วมกัน อีกทั้งสื่อต้องไม่พยายามนำเสนอหรือโน้มน้าวข้อมูลที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เพราะไม่ใช่ทางอออกของความปรองดอง
สุดท้ายในด้านสื่อใหม่ที่กำลังมีอิทธิพลกับสังคมมากขึ้นนั้น ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า สามารถเผยแพร่และเข้าถึงประชาชนได้จำนวนมากอย่างรวดเร็ว ซึ่งสวนทางกับองค์กรที่มีหน้าที่เฝ้าระวัง ตลอดจนกฏหมายยังไม่มีวิธีในการเข้ากำกับดูแลอย่างชัดเจน