สื่อภาคใต้ รับปากเปิดพื้นที่นำเสนอข่าวใกล้ชิดประชาชน
คณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อ เปิดเวทีสาธารณะ ระดมความคิดเห็น นสพ.ท้องถิ่น วิทยุ-เคเบิลทีวีท้องถิ่น และกลุ่มนักวิชาการสื่อสารมวลชนภาคใต้ ยันเห็นตรงกันเตรียมเปิดพื้นที่สื่อให้เป็นกระบอกเสียงชาวบ้าน จัดเวทีประชาสังคม สร้างองค์ความรู้
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะองค์กรเลขานุการของคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยเปิดเวทีสาธารณะ ‘สื่อมวลชนกับการปฏิรูปประเทศไทย’ (ภาคใต้) ณ โรงแรมหาดใหญ่ พาราไดส แอนด์ รีสอร์ท อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อประมวลความคิดเห็นที่ได้จากการจัดเวทีรับฟังมาสังเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาเพื่อการปฏิรูป และคณะกรรมการปฏิรูป
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ปาฐกถาเปิดการประชุม เรื่อง “สื่อมวลชนกับการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า ความเป็นจริงประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมากกว่าประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เดนมาร์ค สวีเดน แต่กลับพบว่าประเทศไทยมีช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนจนและคนรวยต่างกัน 14-15 เท่า ดังนั้นเราจะจัดการทรัพยากรอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัญหาของประเทศไทยที่แท้จริง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ โครงสร้างทางจิตสำนึก โครงสร้างสังคมแนวดิ่ง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง ทำให้สังคมมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน การเมืองมีปัญหา และการเรียนรู้เกิดขึ้นน้อย ขณะที่โครงสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์ ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ การคอร์รัปชั่นสูง การเมืองจะยอมลงทุนเพื่อชนะการเลือกตั้ง เพื่อเข้ามารวบอำนาจ ที่เรียกว่า ‘กินรวบหมดทั้งประเทศ’ อีกทั้งการรัฐประหารก็จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย ฯลฯ
ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาของประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหาตามอาการ ไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงทำให้ปัญหาคลี่คลายเพียงชั่วคราวเท่านั้น ฉะนั้น การแก้ปัญหาโครงสร้างอย่างมั่นคงและยั่งยืนจึงต้องปฏิรูปจิตสำนึกและทิศทางของประเทศไทย เพื่อการอยู่รวมกันอย่างเป็นธรรม และที่สำคัญที่สุดคือปฏิรูปการบริหารประเทศใหม่ จากเดิมที่ยึด ‘กรม’ เป็นตัวตั้ง เปลี่ยนเป็นการยึด ‘พื้นที่’ หรือที่เรียกว่า ‘เทศาภิวัตน์’ เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองได้มากขึ้น และเกิดการพัฒนาอย่างบูรณการ นอกจากนี้จะต้องมีการส่งเสริมการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่
“พลังอำนาจรัฐ และอำนาจเงินไม่สามารถปฏิรูประเทศไทยได้ ต้องใช้พลังอำนาจที่ 3 คือพลังอำนาจสังคม ซึ่งเป็นการรวมตัวทางสังคมของประชาชน รวมคิด รวมทำในทุกๆ ที่ ทุกองค์กร และในทุกเรื่อง เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์สังเคราะห์นโยบาย ซึ่งเท่ากับเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชน ไม่เช่นนั้นความบีบคั้น ความไม่เป็นธรรมจะทำให้ประชาชนติดอาวุธด้วยอาวุธ นอกจากนี้จะต้องมีการใช้แนวทางสันติวิธีและการสื่อสารที่ถึงกัน” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว และว่าการปฏิรูปประเทศไทยไม่ใช่เรื่องของนายอานันท์ ปันยารชุน หรือตน แต่เป็นเรื่อง ‘ประชาชนปฏิรูปประเทศ’ (ปปป.) ไม่ใช่ใครอื่น
จากนั้น นางปรีดา คงแป้น และนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการสมัชชาปฏิรูป ร่วมอภิปรายประเด็นสำคัญของการปฏิรูป และประเด็นเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ โดยนางปรีดา กล่าวถึงปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของภาคใต้ คือปัญหาที่ดิน ซึ่งเฉพาะในพื้นที่อันดามันมีการร้องเรียนถึง 122 ชุมชน มีคดีกว่า 300 คดี และส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกิดข้อพิพาทกับรัฐ
ขณะที่นพ.ชูชัย กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่ดินว่า ควรมีนโยบายเพื่อชะลอการยึดทรัพย์ ยึดที่ดินของประชาชน และเปลี่ยนวิธีการจับกุมประชาชน เป็นการใช้วิธีรายงานตัว หรือทำประโยชน์ให้สังคมแทน เนื่องจากไม่ควรนำประชาชนที่ยากจนไปเข้าคุก ด้วยเหตุเพราะโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม และต้องมีการปรับอัตราภาษีที่ดิน เพื่อให้คนที่ถือครองที่ดินและไม่ได้ทำประโยชน์คลายที่ดินออกมา
จากนั้นในช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น กลุ่มวิทยุและเคเบิลทีวีท้องถิ่น และกลุ่มนักวิชาการสื่อสารมวลชนภาคใต้ เพื่อนำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ด้านนางสาวพัชรี เกิดพรม บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ส่องใต้ จังหวัดสตูล และนางสาวจิราพร หนูสง ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส จังหวัดสงขลา ในฐานะตัวแทนกลุ่มหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น กล่าวถึงข้อสรุปของทางกลุ่มว่า 1.จะมีการเปิดพื้นที่ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นให้เป็นกระบอกเสียงของชาวบ้านมากขึ้น 2.จัดเวทีประชาสังคม เพื่อให้ข้อมูลกับชาวบ้าน 3.สร้างเครือข่ายบรรณาธิการ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหนังสือพิมพ์ต่างๆ ในภาคใต้ และ 4.สร้างพันธมิตรจากหลายองค์กร
นางสาวชรินรัตน์ สมโลก อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะตัวแทนกลุ่มวิทยุและเคเบิลทีวีท้องถิ่น กล่าวในส่วนของเคเบิลทีวี จะการจัดตั้งเคเบิลทีวีแม่ข่าย เพื่อถ่ายทอดสัญญาณและนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย การเสนอข่าวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเสนอข่าวที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ชุมชน โดยจะมีการประสานความร่วมมือกับสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น
นายภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะตัวแทนกลุ่มนักวิชาการสื่อสารมวลชนภาคใต้ กล่าวถึงบทบาทนักวิชาการที่จะสนับสนุนและขับเคลื่อนประเทศไทยว่า หัวใจสำคัญของงานวิชาการคือการสร้างความรู้ เพราะความรู้จะเป็นตัวขับเคลื่อนสังคม ซึ่งบทบาทของนักวิชาการนั้น ควรสร้างปัญญาชนสาธารณะ ชี้นำสังคมด้วยความรู้ และแปลงความรู้ไปสู่แนวทางปฏิบัติ เพราะนักวิชาการสามารถยกปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่สังคมออกมาได้ ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันความรู้เป็นนโยบาย นอกจากนี้จะต้องมีการเปลี่ยนวาทกรรมบางอย่างของสังคม เช่น คำว่า ‘สลัม’ ในเชิงลบ เปลี่ยนเป็น ‘คนจนเมือง เพื่อให้เกิดวิธีคิดและรูปแบบการปฏิบัติทางสังคมที่เปลี่ยนไป