ชาวนา ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเฮ เริ่มทำนาปีแล้ว
ก.เกษตรฯ ประเมินสภาพอากาศและปริมาณฝน คาดแนวโน้มฝนตกเพิ่มขึ้นจากปรากฏการณ์ลานีญ่าส่งผลดีต่อการปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยา ดีเดย์เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวนาปีได้แล้ว
วันนี้ (2 ส.ค. 53) นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้ติดตามสภาวะอากาศและปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องขณะนี้ ประกอบกับการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญ่าที่จะส่งผลทำให้ฤดูฝนเริ่มเป็นไปตามปกติ และเริ่มมีฝนตกชุกหนาแน่นขึ้นในหลายพื้นที่ โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปจะมีฝนตกมากขึ้น และจะตกมากกว่าค่าปกติ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ดีขึ้น และมีความเหมาะสมที่เกษตรกรสามารถเริ่มทำนาปีได้ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมนี้ เป็นต้นไป เนื่องจากจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ให้ทุกโครงการชลประทานทำการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯอย่างเต็มที่ พร้อมไปกับการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมหรือน้ำบ่าไหลหลากที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดในช่วงฤดูฝนนี้
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ( ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ค. 53 ) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 33,372 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 9,530 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้น 881 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งสองเขื่อนเริ่มมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากกว่าปริมาณน้ำที่ระบายออกตั้งแต่วันที่ 20 กรกฏาคม 2553 เป็นต้นมา และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่วน เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 177 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯทั้งหมด และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 69 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 7 ของความจุอ่างฯทั้งหมด
ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ภาคอีสาน ส่วนใหญ่ยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯทั้งหมด เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 128 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯทั้งหมด เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 335 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯทั้งหมด และเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 89 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯทั้งหมด
ส่วนในเขตพื้นที่ภาคกลาง ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาทิ เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 20 ของความจุอ่างฯทั้งหมด เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 99 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯทั้งหมด และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 20 ของความจุอ่างฯทั้งหมด
ดังนั้น จากการประเมินสถานการณ์น้ำและการปลูกข้าวในภาพรวมของพื้นที่ในเขตโครงการชลประทานทุกโครงการที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ในภาคเหนือตอนล่างและในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ กรมชลประทานได้เสนอความเห็นว่า ขณะนี้หลายจังหวัดในพื้นที่เขตลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัดเกษตรกรได้เริ่มมีการทำนาปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบางจังหวัดหรือบางพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาความแห้งแล้ง กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ชลประทานจังหวัดในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือนหรือประชาสัมพันธ์ในเรื่องการใช้น้ำต่อเกษตรกรโดยตรง เพื่อลดผลกระทบจากความเสียหายของผลผลิตที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขาดแคลนน้ำได้
ภาพประกอบจาก http://learners.in.th/file/new_envi/P1170106.JPG