นายกฯเชื่อพรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯฉบับใหม่ ช่วยพัฒนาประเทศรอบด้าน
นายกฯ เผยเป็นก้าวแรกของการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรมในรอบ 10 ปี เชื่ออุตสาหกรรมสื่อวิทยุ - ทีวี พัฒนาต่อได้ยาว รองปธ.ทีดีอาร์ แนะ กทช. ต้องปลดเกียร์ว่างเตรียมพร้อมรับ กสทช.
วันที่ 18 พฤศจิกายน สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดงานสัมมนาอุตสาหกรรมสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และโทรคมนาคม หลังกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้: โจทย์ต่อไปคืออะไร? ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ห้องเมจิก 3 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถา “บทบาทด้านสื่อและโทรคมนาคมของรัฐบาล หลังพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้”
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนหลังพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้รับความเห็นชอบจากสภาแล้ว ต่อไปรัฐสภาจะส่งเรื่องให้ทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน ขณะที่บทบาทของรัฐ หลังกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้จะให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นการจัดสรรทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งต้องดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"กฎหมายฉบับนี้พยายามปรับปรุงกฎกติกาต่างๆ หลัง 10 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามสร้างองค์กรอิสระขึ้นมาดูแลกิจการโทรคมนาคม วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นจัดระเบียบ จัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในยุคการหลอมรวมของเทคโนโลยี ที่ต้องมีการกำกับดูแลเนื้อหาจากสื่อต่างๆ เหล่านี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า กฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อให้อุตสาหกรรมสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และโทรคมนาคม พัฒนาต่อไปได้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ขณะที่บทบาทของภาครัฐนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วางไว้หลายด้าน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง กสทช.โดยเร็ว กำหนดนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีเป้าหมายสูงสุดประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสาร และใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพ และการปรับปรุงเครือข่ายการบริการของภาครัฐทั้งหมด
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า หัวใจที่รัฐจะต้องเร่ง คือ การดูแลกติกาการแข่งขันในธุรกิจให้มีความเป็นธรรม เสมอภาค และเร่งรัดให้ประเทศเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการกำกับดูแลหน่วยงานรัฐให้ใช้คลื่นความถี่อยู่ที่อยู่ในมือให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ตามเจตนารมณ์ รวมทั้งการคืนคลื่นความถี่
จากนั้น ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการร่วม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บรรยาย “ก้าวต่อไปหลังพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้” โดยได้สรุปบทบัญญัติสำคัญที่มีการถกเถียงกัน ซึ่งประเด็นที่มีความเป็นห่วง คือ การประมูลคลื่นความถี่ โดยเฉพาะมาตรา 46 ระบุว่า ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ต้องประกอบกิจการด้วยตนเองจะมอบหมายให้ผู้อื่นประกอบกิจการแทนไม่ได้ ในประเด็นนี้มีข้อเสนอว่า กทช.ควรสอบถามความเห็นทางกฎหมาย จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าบทบัญญัติเปิดช่องให้มีการทำบริการ MVNO (Mobile Virtual Network Operator)ได้หรือไม่ และควรเสนอแก้ไขกฎหมาย หากไม่สามารถดำเนินการได้
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ก้าวต่อไปหลังกฎหมายใหม่บังคับใช้ กทช.ควรเลิกเกียร์ว่าง และหันมาเตรียมการเพื่อสนับสนุนการทำงานของ กสทช. ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่ขัดแย้งกับกฎหมาย, ยกร่างแผนแม่บททั้ง 3 แผนและแผนการปรับไปสู่โทรทัศน์ในระบบดิจิตอล และสำรวจพื้นที่ ซึ่งมีคลื่นความถี่เพียงพอให้ภาคประชาชนใช้ประกอบกิจการโทรทัศน์ชั่วคราว สุดท้ายเร่งสร้างองค์ความรู้ด้านกิจการเสียงและกิจการโทรทัศน์