นักวิชาชีพชี้สื่อละเมิดสิทธิเด็กมีอยู่เสมอ ดึงผู้บริโภคสื่อ-นักข่าว ช่วยแก้
นักวิชาชีพสื่อชี้กรมประชาสัมพันธ์มีสถานีวิทยุมากแต่รายการเด็กยังน้อย-เนื้อหาไม่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ด้านกก.บริหารส.อิศรา ชี้การนำเสนอข่าวของสื่อยังละเมิดสิทธิเด็กอยู่ ชวนผู้บริโภคและนักข่าวร่วมปกป้อง ส่วนครูยุ่นห่วงการป้อนข้อมูลเท็จเท่ากับละเมิดทางอ้อม
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก องค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย จัด “พิธีมอบรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก ประจำปี 2553” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ภายในงานมีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “สิทธิเด็กในสื่อ : ภาพสะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” โดย นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ข่าวสิทธิเด็กในสื่อวิทยุกระจายเสียงว่า ขณะนี้สื่อวิทยุให้ความสำคัญกับสิทธิเด็กน้อย สิ่งที่สะท้อนออกมาคือรูปแบบรายการสิทธิเด็กยังไม่มากเมื่อเทียบกับสถานีวิทยุในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ที่มีทั่วประเทศ ขณะที่ด้านเนื้อหาก็ไม่ได้นำเสนอให้เด็กเป็นศูนย์กลาง
“จะเห็นว่าวันนี้เรื่องเด็กกับการคุ้มครองมีมากขึ้น แต่เด็กกับการมีส่วนร่วมน้อยอยู่ หากสื่อมวลชนหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น น่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาสื่อมวลชนไทย” นายบรรยงค์ กล่าว
ด้านนางสาวรุ่งมณี เมฆโสภณ กรรมการบริหารสถาบันอิศรา กล่าว ถึงการนำเสนอข่าวเรื่องเด็กในสื่อมวลชนมีปัญหามากพอสมควร แม้องค์กรสื่อจะมีแนวทางการดูแลกันเอง แต่ก็แค่บางส่วนและยังทำได้น้อยอยู่ สิ่งที่น่ากลัวคือวันนี้ยังมีการทำข่าวที่ละเมิดสิทธิเด็กอยู่เสมอ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ คือ เสียงสะท้อนจากผู้บริโภค ที่สำคัญคือตัวนักข่าวเอง ที่ต้องมีสำนึกเรื่องดังกล่าวตลอดเวลา โดยไม่ต้องนั่งพูดหรือย้ำกันทุกครั้ง
“ถ้าเป็นเรื่องเด็ก คนที่เป็นนักข่าวต้องตื่นตัวและรอบคอบในการทำงาน การ ทำข่าวไม่ใช่สักแต่ว่าทำ อย่างน้อยๆ ควรการตรวจสอบว่า มีความผิดพลาดหรือช่องโหว่ตรงไหนบ้าง นั่นคือสิ่งที่ต้องพึงกระทำเสมอ เพราะทั้งนักข่าวและผู้บริโภคล้วนเป็นตัวป้องกันที่สำคัญให้กับเด็ก” นางสาวรุ่งมณี กล่าว
กรรมการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่า องค์กรวิชาชีพ จะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างไม่ได้ ผู้ที่เข้ามาในวิชาชีพ ควรต้องเรียนรู้ด้วยตนองด้วย โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาเป็นสื่อต้องรักและเคารพในวิชาชีพ ซึ่งการเรียนรู้แม้จะสำคัญ แต่ก็เป็นเรื่องรอง
ส่วนนายมนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกิดข่าวรุนแรงกับเด็กกว่า 3,000 ข่าว แต่การร้องเรียนเกิดขึ้นน้อยมาก สิ่งที่เห็นชัดเจนคือสื่อมีส่วนช่วยเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิหลายกรณี ข้อสังเกตคือเมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุ สื่อจะเป็นตัวผลักให้มีการดำเนินคดีเร็วขึ้น หรือผู้กระทำถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสื่อยังเผลอเลอยู่บ้าง
“เด็กก็คือผู้บริโภคสื่อคนหนึ่ง การนำเสนออะไรก็ตามที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง เท่ากับเป็นการละเมิดเด็กที่สื่อควรหันมาตรวจสอบ ซึ่งการทำงานของนักข่าวรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต โดยส่วนตัวไม่สนใจเรื่องความรู้มาก แต่สนใจประสบการณ์ชีวิต และอย่าลืมว่าครั้งหนึ่งคุณเคยเป็นเด็ก การจะทำหรือนำเสนออะไรต้องคำนึงถึงตรงนี้ด้วย” นายมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานยังมี พิธีการมอบรางวัล “ข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก” ประจำปี 2553 โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและทูตพิเศษ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เป็นประธาน
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา เปิดเผยว่า การประกวดข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็กใน สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ และหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในโรงเรียน ปี 2553 นี้ สถาบันอิศราร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยสื่อมวลชนแขนงต่างๆ นิสิตนักศึกษา และนักเรียน ให้ความสนใจส่งผลงานข่าวและสารคดีเชิงข่าวด้านการส่งเสริมสิทธิเด็กเข้า ประกวดมากกว่าปีที่ผ่านมา
ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวถึงผลการตัดสินรางวัลประเภทต่างๆ มีดังนี้ รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ ประกอบด้วย รางวัลยอดเยี่ยม จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 50,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานข่าวเรื่อง “วิบากกรรมของหัวกะทิ” โดย นางสาวทิพย์กมล เกียรติทีรัตนะ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ส่วนรางวัลชมเชย มี 2 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานข่าวเรื่อง “กระตุกสังคมต้านโหด ‘สิทธิที่จะมีชีวิต’ หยุดละเมิดเด็กซ้ำซาก ” โดย โต๊ะข่าวสกู๊ป หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ ผลงานข่าวเรื่อง “น้องไบเบิล 5 ขวบยอดกตัญญู” โดยกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
นายชวรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อวิทยุกระจายเสียง คณะกรรมการตัดสินมีความเห็นว่า ไม่มีผลงานชิ้นใดอยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม แต่มีผลงานที่คณะกรรมการเห็นสมควรให้ได้รับรางวัลรางวัลชมเชย 1 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานข่าวเรื่อง “โอกาสทางการศึกษาของเด็กพิเศษในสังคมไทย” โดย นางสาวนิตยา น้อยใหญ่ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ ประกอบด้วย รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล รางวัลละ 50,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานข่าวเรื่อง “เด็กต่างด้าว : สิทธิทางการศึกษา” โดย สถานีโทรทัศน์เนชั่น แชแนล ส่วนรางวัลชมเชยมี 2 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าวเรื่อง “ความลับของแม่ข้างถนน” รายการเรื่องจริงผ่านจอ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และ สารคดีเชิงข่าวเรื่อง “เด็กไร้สัญชาติ” โดย บริษัท มหาชัยเคเบิลทีวี จำกัดนอกจากนั้นทางคณะกรรมการตัดสินยังมีมติเพิ่ม รางวัลชมเชย (พิเศษ) 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท ได้แก่ สารคดีเชิงข่าวเรื่อง “ดีเจ…ไร้สัญชาติ” โดย บริษัท เคซีทีวี (นครสวรรค์) จำกัด และ “การเฝ้าระวังดินถล่ม” โดย สถานีทีวีไทย
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานข่าวเรื่อง “เมื่อสนามเด็กเล่น เป็นสนามม้า” โดยกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สื่อมวลชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่วนรางวัลชมเชย 2 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานข่าวเรื่อง “Talent กับกิจกรรมปิดทองหลังพระของกลุ่มเด็ก” โดย กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว มหาวิทยาลัยบูรพา และ ผลงานข่าวเรื่อง “ปัญหาตำตา กระเทือนชีวิตของเด็กแว่น” โดย กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อุดรโพสต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
และรางวัลประเภทหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนส่งเสริมสิทธิเด็ก ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 1 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ม่วงชมพูโพสต์ โดย โรงเรียนนครนายกวิทยาคม ส่วนรางวัลชมเชยมี 2 รางวัล รางวัลละ 2,500 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ประดู่แดงนิวส์ โดย โรงเรียนนวมราชานุสรณ์ และ หนังสือพิมพ์ฟ้าใหม่ โดย โรงเรียนบ้านนา “นายกพิทยากร”