เปิดเวทีฟังข้อเสนอ ‘ทีวีดาวเทียมกับการควบคุมกันเอง’
ดร.โวฟกัง ชูล์ส ระบุ สำหรับประเทศไทย การกำกับดูแลร่วม อาจไม่จำเป็นต้องทำเต็มรูปแบบเหมือนเยอรมนี ชี้ทำเฉพาะบางประเด็น ด้าน “วสันต์ ภัยหลีกลี้” เปิดข้อจำกัดควบคุม-กำกับกันเองขององค์กรวิชาชีพ ต้นเหตุทำให้การควบคุมไร้ประสิทธิภาพ
วันที่ 16 พฤศจิกายน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดสัมมนา “บทบาทของโทรทัศน์ดาวเทียมกับการควบคุมกันเอง” ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรมสยามซิตี้ โดยดร.โวฟกัง ชูล์ส ผู้อำนวยการสถาบันฮานส์ เบรโดว์ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวถึงรูปแบบของสื่อดาวเทียมกับการกำกับดูแลกันเอง (Self-Regulation) ว่า ประกอบไปด้วย การกำหนดกฏเกณฑ์ การปฏิบัติ การดูแลสอดส่อง และการลงโทษ โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณ และบนพื้นฐานขององค์กร
สำหรับการหาข้อตกลงเกี่ยวกับการกำกับดูแลร่วมกัน (Co-Regulation) ในประเทศไทย ดร.โวฟกัง กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องทำอย่างเต็มรูปแบบ อาจมีการกำหนดความร่วมมือขึ้นเฉพาะบางประเด็น ดังเช่น กรณีของเยอรมนี ที่ใช้การกำกับดูแลร่วมกัน ระหว่างรัฐ กับผู้ประกอบการ เฉพาะการคุ้มครองผู้เยาว์ เพราะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากต่อสังคมเยอรมนี
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงการสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาดูแลควบคุมกันเองของสื่อฯ ที่ผ่านมาสามารถทำได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะทางสมาคมต่างๆ ที่ควบคุมดูแล ไม่ใช่เจ้าของสื่อฯ โดยตรง แต่หากจะมีการกำหนด หรือใช้กฎหมายเข้ามาควบคุม ก็เป็นสิ่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะยิ่งใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมดูแลมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงถึงความไม่มีเสรีภาพของรัฐมากเท่านั้น จึงฝากให้องค์กรวิชาชีพพิจารณาการแนวทางการควบคุมกันเองที่มีเสรีภาพ และความรับผิดชอบด้วย
ส่วนรศ.ดร.พนา ทองมีอาคม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวในช่วงอภิปราย และแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา ถึงการกำกับดูแลกันเองว่า ในการกำกับดูแลคนหมู่มากเป็นเรื่องยาก จึงนับเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง แต่ต้องเอามาใช้ให้น้อยที่สุด รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการที่มีอำนาจรัฐเข้าไปปกคลุม หรือแทรกแซงในการทำงานของสื่อ
“นับเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรหากรัฐจะเป็นผู้กำกับดูแลสื่อ เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งการร่างกฎหมายก็ใช้เวลานาน กว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจึงช้ามาก ดังนั้น ควรใช้การกำกับดูแลร่วมกัน โดยการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ดูแลลงมาเป็นขั้นๆ และระบุให้ชัดเจนว่าแต่ละขั้นทำหน้าที่ได้แค่ไหน เพราะการให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างมีอำนาจ หรือใช้ดุลยพินิจมากๆ เป็นเรื่องอันตราย”
ขณะที่นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงการควบคุม และกำกับกันเองขององค์กรวิชาชีพที่ผ่านมา ทำได้เฉพาะผู้ที่สมัครใจเข้ามาเป็นสมาชิกขององค์กรเท่านั้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้ภาครัฐ หรือภาคการเมืองเข้ามาควบคุม หรือแทรกแซง อีกทั้งด้านสมาชิกเองก็ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ จึงเกิดปัญหาเกรงใจเจ้าของกิจการ ทำให้การควบคุมไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
“เราต้องตั้งโจทย์หลักๆ ไว้ว่า จะทำอย่างไรให้การควบคุม และกำกับกันเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมุ่งเน้นไปที่ด้านจริยธรรม โดยไม่ให้รัฐเข้ามามีบทบาท จึงเกิดแนวคิด Co-Regulation ขึ้นมา ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรที่มีหน้าที่กำกับ ดูแลกันเองมีอำนาจในการลงโทษ ซึ่งอาจมีการเชื่อมโยงกับกฎหมาย อาทิ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ หรือ พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งรัฐจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการคุ้มครองเป็นบางกรณี แต่จะไม่มีผลในการแทรกแซงการทำงานขององค์กร ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพราะแทนที่ กสทช. จะตั้งกลุ่ม หรือหน่วยงานใหม่เข้ามากำกับ ดูแล ก็ให้กำกับผ่านองค์กรวิชาชีพ โดยอาศัยหลักการของกสทช. จะทำงานง่ายกว่า และได้ประสิทธิผลกว่ามาก เนื่องจากองค์กรวิชาชีพจะมีภูมิความรู้ในด้านนี้โดยตรงอยู่แล้ว และหากมีการส่งเสริมให้มีหน่วยงานควบคุม และกำกับสื่อที่มาจากภาคประชาชน-ผู้บริโภค ก็จะทำให้สื่อตระหนักถึงผู้ชม และผู้ฟังมากยิ่งขึ้น”
จากนั้นในช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มย่อยและนำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับปรับปรุงบทบาทของโทรทัศน์ดาวเทียมและการควบคุมกันเอง โดยมีข้อสรุปว่า การกำกับดูแลโทรทัศน์ดาวเทียมในบริบทประเทศไทย มีทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่ การกำกับดูแลจากรัฐเพียงอย่างเดียว การกำกับดูแลจากผู้ประกอบการกันเอง และการกำกับดูแลร่วมกันระหว่างรัฐ กับผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นในการกำกับดูแลร่วมกัน เพราะเป็นการคานอำนาจทั้งจากภาครัฐ และภาคธุรกิจ และมีความเป็นไปได้ที่การควบคุม และกำกับสื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น