ดร.สมเกียรติเปิดผลวิจัยกำจัดจุดอ่อน เสนอกลไกกำกับดูแลสื่อ
ผลวิจัยแนะวิธีการกำกับร่วม 2 ระดับ องค์กรวิชาชีพควบคุมดูแลกันเอง-รัฐบังคับให้ปฏิบัติตามกำหนดโทษปรับทางการปกครอง ยื่นดาบ กสทช. สามารถถอนใบอนุญาตได้
วันที่ 11 พฤศจิกายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าวและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดสัมมนาเรื่อง "กลไกการกำกับดูแลและควบคุมกันเองของสื่อมวลชนไทย เปรียบเทียบกับมาตรฐานนานาชาติ" ณ โรงแรมสยามซิตี้ โดยดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นำเสนองานวิจัยเรื่อง กลไกการกำกับดูแลและควบคุมกันเองของสื่อมวลชนไทย”
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การกำกับดูแลสื่อในประเทศไทย ที่ผ่านมามี 2 ระดับ 1. การกำกับดูแลโครงสร้าง และ2. การกำกับดูแลเนื้อหา ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 ระยะคือ 1.ก่อนดำเนินการ ด้วยการออกใบอนุญาต และการกำกับโครงสร้างตลาด ด้วยห้ามถือครองหุ้นข้ามสื่อ พร้อมกับกำหนดสัดส่วนของเนื้อหาและการเซ็นเซอร์ 2.หลังการดำเนินงาน หน่วยงานที่กำกับดูแลป้องกันการผูกขาด สำหรับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจะรับเรื่องร้องเรียน
“ผลการศึกษาของสถาบันฮานส์ เบร์โดว มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ถึงแนวทางการกำกับดูแลเนื้อหาสื่อแบ่งออกเป็น 4 ระดับ 1. ไม่มีการกำกับ 2. กำกับดูแลกันเอง 3. กำกับดูแลร่วม และ4.การกำกับโดยรัฐ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยคาดว่าจะมีแนวทางการใช้แบบ 2 ระดับ คือ การดูแลกันเองและการกำกับดูแลร่วม”
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า หนังสือพิมพ์ มีการควบคุมจริยธรรม โดยการกำกับดูแลกันเองผ่านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขณะที่วิทยุโทรทัศน์ มีพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์กำหนดในเรื่องการออกใบอนุญาต และควบคุมจริยธรรมกันเองผ่านองค์กรวิชาชีพ เช่นสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งที่ผ่านมาการกำกับกันเองมีจุดแข็งที่รัฐไม่สามารถแทรกแซงสื่อและออกระเบียบที่ไม่เหมาะสม ส่วนจุดอ่อนสามารถกำกับได้กับสื่อที่สมัครใจและเป็นสมาชิก แต่ไม่มีบทลงโทษที่มีประสิทธิผล
“จากผลการศึกษาแนะนำให้มีการกำกับร่วม ที่มีวิธีการกำกับดูแล 2 ระดับ คือ 1.ให้องค์กรวิชาชีพควบคุมดูแลกันเอง ลงโทษสมาชิกที่ฝ่าฝืนข้อบังคับ 2. รัฐบังคับให้ปฏิบัติตามกำหนดโทษปรับทางการปกครอง โดยให้คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) สามารถถอนใบอนุญาตได้ ในกรณีที่สมาชิกไม่ปฏิบัติตาม”
จากนั้นมีการวิจารณ์งานวิจัยและให้ข้อเสนอแนะ โดยนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงการจัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ผ่านมานั้น เพราะเกรงว่ารัฐจะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อ ปัจจุบันจำนวนสื่อที่มีหลากหลายกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิทยุโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต ทีวีบอกรับสมาชิกหรือระบบเคเบิ้ล และทีวีผ่านดาวเทียม ซึ่งแนวโน้มจะเป็นการหลอมรวมเทคโนโลยี และรับการรู้สื่อแบบโซเชียลมีเดีย ซึ่งองค์กรวิชาชีพ จะต้องเกิดรับสื่อใหม่และสื่อออนไลน์ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย
สำหรับโครงสร้างการบริหารงานที่องค์กรวิชาชีพที่ไม่ชัดเจน นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ทำให้สภาวิชาชีพมีบุคคลที่เข้าไปมีบทบาทเพียงไม่กี่คน และถูกนำไปใช้หาผลประโยชน์ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นมาเฟียในภาคเอกชน ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่จะมีการถอนใบอนุญาตสื่อ เมื่อสมาชิกในองค์กรวิชาชีพไม่ปฏิบัติตาม เนื่องจากองค์กรสื่อบางแห่ง ก็มีหลักเกณฑ์และแนวทางการควบคุมจริยธรรมที่เข้มงวดมากกว่า องค์กรวิชาชีพด้านสื่อ
ด้านนายบุญเลิศ คชายุทธเดช บรรณาธิการอาวุโส บมจ.มติชน กล่าวว่า กลไกการกำกับดูแลและควบคุมกันเองของสื่อมวลชนไทย จะต้องมีการพัฒนาระบบการตรวจสอบ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคและผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมด้วย จะเห็นว่า ในช่วงวิกฤติทางการเมืองที่ผ่านมาส่งผลการทำงานของสื่อที่มีการเลือกข้างอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้สื่อมีการฟ้องกันเอง
“สิ่งที่ต้องติดตาม คือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่กำลังมีผลบังคับใช้ สอดรับกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แนวทางการการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อตามกฎหมายที่เกิดขึ้น จะมีผลต่อการดำเนินงานและสิทธิเสรีภาพของสื่อออกมาในลักษณะใด”นายบุญเลิศ กล่าว และว่า สำหรับแนวทางการกำกับดูแลจะเป็นองค์กรเดียวหรือองค์กรร่วม ซึ่งจะต้องสร้างแนวทางการยอมรับและกติการ่วมกัน เพราะที่ผ่านสื่อไม่สามารถควบคุมกันได้