สื่อภาคเหนือ จับมือ คสป. ผนึกกำลังมวลชนเดินหน้าปฏิรูปประเทศ
สื่อท้องถิ่นภาคเหนือ ตบเท้าเข้าร่วมแผนปฏิรูปประเทศ ประมวลความเห็นเสนอคสป.จัดอบรมสร้างองค์ความรู้-เว็บไซต์ เป็นสื่อกลางการเผยแพร่
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะองค์กรเลขานุการของคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยเปิดเวทีสาธารณะ “สื่อมวลชนกับการปฏิรูปประเทศไทย” (ภาคเหนือ) ณ โรงแรมไพลิน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อประมวลความคิดเห็นที่ได้จากการจัดเวทีรับฟังมาสังเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาเพื่อการปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูป
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป ปาฐกถาเปิดการประชุม เรื่อง “สื่อมวลชนกับการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทย” ตอนหนึ่งถึงปัญหารากฐานของสังคมไทย ยังคงเป็นสังคมเชิงโครงสร้าง เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครใส่ใจ เราไปใส่ใจกับปัญหาที่ตัวบุคคลมากเกินไป โครงสร้างต่างๆ เหล่านี้ เมื่อไม่ได้คิดแก้ไข ก็จับตัวเป็นโครงสร้างที่แน่นหนาขึ้น ทำให้คนไทยเหมือนไก่อยู่ในเข่ง
“ยิ่งเราเร่งพัฒนาแต่ทางเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ สังคมเราก็ยิ่งจะขาดความเป็นธรรม และเกิดความเหลื่อมล้ำในทุกด้านมากขึ้นเท่านั้น สังคมเราตกอยู่ในอำนาจรัฐ และอำนาจเงินมาโดยตลอด ทุกวันนี้จึงต้องพึ่งอำนาจทางสังคม นั่นคือ อำนาจของประชาชน เพราะประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้ปฏิรูปประเทศได้ ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 2 ชุด เป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่า การรวมตัวของประชาชน ต้องเป็นไปในแนวทางสันติวิธี มีการติดอาวุธทางปัญญา และการสื่อสารเชื่อมโยงกัน เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้หมดไปจากสังคมไทย”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงสื่อจะเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มอำนาจของประชาชน เนื่องจากประชาชนข้างล่างมีคนดีอยู่มากกว่าข้างบน เพียงแต่ไม่มีโอกาสในการสื่อสาร หากประชาชนได้มีการรวมตัวกัน และเห็นพ้องในทิศทางเดียวกันก็จะเป็นกลุ่มที่มีพลังอำนาจมาก ที่จะพัฒนาและปฏิรูปประเทศได้อย่างแน่นอน
จากนั้นดร.วณี ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป นางปรีดา คงแป้น กรรมการสมัชชาปฏิรูป นายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการสมัชชาประธานคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป นำเสนอประเด็นสำคัญของการปฏิรูปประเทศ
ดร.วณี กล่าวถึงกรอบการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปฯ ทั้ง 2 ชุด ว่าต้องการ ‘สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ’ ดังนั้น สื่อท้องถิ่นจะต้องเป็นกำลังสำคัญในการสร้างให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง จะได้มีส่วนร่วมกับท้องถิ่น เพื่อผนึกกำลังในการปฏิรูปประเทศต่อไป
สำหรับข้อเสนอจากสื่อภูมิภาค ประกอบด้วยหนังสือพิมพ์ วิทยุ และเคเบิลทีวีท้องถิ่น ต่างเห็นว่าสื่อท้องถิ่นมีพื้นที่เพียงพอและหลากหลายช่องทางต่อการกระจายข่าวสารการปฏิรูป แต่ขอให้มีการจัดระบบสนับสนุนด้านข้อมูลจากส่วนกลาง หรือเครือข่ายปฏิรูปในภูมิภาค และจากนักวิชาการในพื้นที่ รวมทั้งการฝึกอบรมทักษะให้ผู้จัดรายการวิทยุและเคเบิลทีวี เพื่อให้สามารถสื่อสารเรื่องการปฏิรูปได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ สื่อท้องถิ่นยังเสนอให้มีการบูรณาการสื่อทุกประเภทในภาคเหนือโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นสื่อใหญ่หรือเล็ก เพื่อให้เกิดพลังสื่อสารร่วมกัน เกิดการดูแลตรวจสอบจริยธรรมกันเอง และป้องกันการคุกคามสื่อจากกลุ่มอำนาจต่างๆ ด้วย
ด้านนักวิชาการนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนในภาคเหนือ ต่างเห็นร่วมกันว่า สถาบันวิชาการต้องมีบทบาทหนุนสื่อท้องถิ่นทั้งด้านเนื้อหาสาระ ด้านพัฒนาช่องทางสื่อสาร และด้านการเฝ้าระวังสื่อจากภาคประชาชน รวมทั้งจะร่วมมือกันเป็นเครือข่ายวิชาการนิเทศศาสตร์ของภาคเหนือตอนบนและภาค เหนือตอนล่าง สร้างงานวิจัยการสื่อสารในชุมชน เพื่อทำให้ภาควิชาการได้มีโอกาสเรียนรู้และให้บริการวิชาการกับชุมชนได้ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเสนอปัญหาและแนวทางปฏิรูปที่มาจากชุมชนโดยตรง