นักวิชาการนิเทศแนะ 4 แนวทางกำกับ-ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปประเทศ
สรุปขั้นต้นทีมวิจัยปฏิรูปฯ ของ “ยุบล” ชี้สื่อใหม่ – สื่อชุมชนต้องมีองค์กรบริหารจัดการจริยธรรมชัดเจน พร้อมแนะ 4 แนวทางแก้ไข ม.หอการค้าเชื่อสื่อใหม่ช่วยลดอำนาจรัฐและนายทุน
วันที่ 4 พ.ย. สมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดการประชุมสัมมนาวิชาการทางนิเทศศาสตร์ในหัวข้อ “การนำเสนอผลงานวิชาการนิเทศศาสตร์กับการปฏิรูปสื่อ” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดี – รังสิต โดยมีรศ.ดร. ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดการประชุม
ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะผู้ทำวิจัย กล่าวถึงผลการวิจัย ภายใต้กรอบแนวคิด “ภาควิชาการกับการปฏิรูสื่อ” ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลวิจัยชั้นต้นในช่วง 3 เดือน (ก.ค. – ต.ค.2553) จากนักวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลรชนทั่วประเทศจำนวน 50 คน โดยจัดแบ่งประเภทของสื่อได้ดังนี้ 1.สื่อมวลชน – หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ 2. สื่อชุมชน – วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และ 3. สื่อใหม่ – อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ และเครือข่ายสังคมออนไลน์
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงผลงานวิจัยชิ้นนี้ ปัญหาที่พบ สื่อมวลชนไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในกรณีทำข่าวบนพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งนักวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์ มีข้อเสนอควรกำหนดกรอบความช่วยเหลือให้ชัดเจน เช่น การประกันภัย ประกันชีวิต เงินกองทุนและการฝึกอบรมทำข่าวในพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นต้น
ด้านนายบวรสรรค์ เจี่ยดำรง นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะผู้ช่วยวิจัย กล่าวถึงปัญหาที่พบในสื่อมวลชน และสื่อชุมชน น คือ การขาดเสรีภาพในการทำงาน เพราะบางแห่งตกอยู่ภายใต้กรอบอำนาจของรัฐ ในขณะที่บางส่วนถูกครอบงำโดยนายทุน ซึ่งแตกต่างจากปัญหาของสื่อใหม่ ที่เสรีภาพมีล้นเหลือ แต่ไร้ซึ่งการกำกับดูแลอย่างจริงจัง
“แม้สื่อใหม่จะมีอิสระที่สุด แต่ที่ผ่านมาพบว่า รัฐมีวิธีในการควบคุมการทำงานของสื่อที่ไม่ถูกต้อง เช่น การแทรกแซงสื่อใหม่ด้วยการสั่งปิดเว็บไซต์ ซึ่งเป็นการบีบให้ประชาชนรับข่าวสารได้เพียงด้านเดียว แต่ควรแก้ไขปัญหาด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีคุณธรรมและสร้างสรรค์” นายบวรสวรรค์ กล่าว
ส่วนเรื่องการกำกับดูแลสื่อมวลชนนั้น ผู้ช่วยงานวิจัย กล่าวต่อว่า ขาดองค์กรที่จะเข้ามาบริหารจัดการ ในแง่ของการควบคุมจริยธรรมและจรรยาบรรณ ซึ่งงานวิจัยมีข้อเสนอแนะไว้ทั้ง 4 แนวทาง คือ 1.องค์กรสื่อควบคุมกันเอง โดยภาคประชาชนและภายในชุมชน 2.ควบคุมโดยองค์กรอิสระ 3.ควบคุมโดยภาครัฐ และ 4.ประสานงานจากทุกภาคส่วนร่วมกัน
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสื่อชุมชนและสื่อใหม่ว่า มีส่วนที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนโครงสร้างสื่อมวลชนให้หลุดออกจากอำนาจของรัฐและนายทุน เพราะสื่อดังกล่าวไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากนัก ขณะเดียวกันองค์กรวิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ต้องช่วยกันการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และช่วยกันประสานงานเพื่อให้เกิดจรรยาบรรณในวิชาชีพให้เกิดขึ้นด้วย
อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า งานวิจัยนี้ถือว่าเป็นธงหลักในการประสานงานร่วมกันขององค์กรวิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ที่ผ่านมามีนักวิชาการทำวิจัยเรื่องนี้มากมาย แต่ทำเป็นรายบุคคล อีกทั้งยังขาดการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จะไร้ความหมาย หากนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนไม่ร่วมมือผลักดันให้เดินหน้าต่อ
จากนั้นในช่วงบ่าย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สื่อกับการปฏิรูปประเทศไทย” ก่อนที่จะมีการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “นิเทศศาสตร์กับการปฏิรูป” วิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.พีระ จิรโสภณ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.สุ รัตน์ เมธีกุล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก, รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงสื่อเพื่อการปฏิรูปประเทศว่า ต้องเพิ่มพลังอำนาจที่ 3 เพิ่มพลังทางสังคม ติดอาวุธด้วยพลังปัญญา พร้อมยกตัวอย่างกรณี ส.ส.ที่ตั้งกลุ่มไมตรีจิตขึ้นมา เพื่อสร้างบรรยากาศสมานฉันท์ การนำเสนอข่าวทางบวกนี้ เป็นหน้าที่ของสื่อที่ต้องแสดงให้ประชาชนเห็น ขณะเดียวกันนักข่าวต้องปรับตัวเป็นนักข่าวแนวใหม่ ลงไปดูความจริงของแผ่นดิน แล้วนำมาเสนอ
"ประเทศต้องมีเปลี่ยนการเข้าเกียร์ใหม่ เปลี่ยนจากเกียร์ของการต่อสู้ ไปสู่เกียร์ที่ต้องใช้สติปัญญา และข้อมูล" ศ.นพ.ประเวศ กล่าวในที่สุด