ดร.วิลาสินี หวังกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนไปพร้อมกระแสปฏิรูป
ยันร่างพรบ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ‘มาจากประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อย่างแท้จริง’ ดร.ผุสดี มั่นใจผลักดันผ่านเข้าสภาฯ ทัน ‘เข็มพร’ เน้นย้ำความเป็นอิสระ ที่ไม่มีหน่วยงานราชการมาล้วงลูกการทำงาน
วันที่ 29 ต.ค. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) จัดงานเสวนา “กองทุนสื่อสร้างสรรค์ : กลไกการปฏิรูปสังคม” ณ ห้องลีลาวดี โรงแรมรามา การ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน นางเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะ สสส. และดร.ผุสดี ตามไท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมเป็นวิทยากร
นางเข็มพร กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ... ยังมีสิ่งที่ต้องห่วงอยู่ 2 ประเด็น ได้แก่ ภารกิจของกองทุนฯ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดสื่อที่ดี-สร้างสรรค์ มากกว่าจะเป็นกองทุนที่มีหน้าที่ตามจับสื่อที่ไม่เหมาะสม เพราะในด้านการจับตามองสื่อที่ไม่เหมาะสมมีข้อกฎหมายดูแลอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะมีปัญหาด้านการบังคับใช้อยู่บ้าง จึงไม่ควรต้องกำหนดภารกิจให้ซ้ำซ้อนกัน ประเด็นถัดมา คือต้องคำนึงเสมอว่ากองทุนฯ จะต้องเป็น ‘อิสระ’ ไม่มีหน่วยงานราชการมาดูแลควบคุมการทำงาน ตลอดจนมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีนโยบาย และการกระจายทุนที่ไม่ผิดเพี้ยนไปจากการวิจัยหรือการถอดบทเรียนที่ผ่านมา
ขณะที่รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวถึงโครงสร้างของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ว่า ไม่เพียงจัดตั้งมาเพื่อผลิตสื่อ แต่จะทำให้การปฏิรูปสื่อเดินหน้าไปได้จริงทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยสร้างจิตสำนึกใหม่ในสังคม และเป็นแนวทางหนึ่งในการร่วมพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่กระแสการปฏิรูปประเทศไทยกำลังตื่นตัวเต็มที่ ยิ่งจะสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันได้เป็นอย่างดี
ส่วนหลักการสำคัญของกองทุนฯ รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า จะมีการจัดการดูแลที่มาจากประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อย่างแท้จริง โดยมีพันธกิจในการพัฒนาให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ สนับสนุนให้เกิดพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนสื่อสร้างสรรค์ ส่งเสริมการศึกษาวิจัย และจัดการอบรม ให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์มากขึ้น รวมทั้งเป็นการขยายช่องทางสื่อสร้างสรรค์ให้เข้าถึงกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มขาดโอกาสที่จะเข้าถึงสื่อ
นพ.ยงยุทธ กล่าวถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนฯ ภายหลังจากที่ร่างพ.ร.บ. ผ่านความเห็นชอบอนุมัติเข้าสู่กระบวนการต่อไปว่า จะประกอบด้วยคณะกรรมการด้านต่างๆ อาทิ กฎหมาย สื่อสารมวลชน คุ้มครองผู้บริโภค การศึกษา ฯลฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะมุ่งเน้นจากภาคราชการมากขึ้น
ดร.ผุสดี กล่าวถึงความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงนับว่าไม่น่าห่วง เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถเร่งรัดนำร่างพ.ร.บ.ฯ เข้าสู่การพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะต้องร่วมพิจารณาเป็นลำดับสุดท้ายได้อย่างเรียบร้อย และทันเวลา
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตลอดการเสวนามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงสร้างคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนไปจากเดิม โดยมีการเพิ่มจำนวนคณะกรรมการโดยตำแหน่งมากขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 6 คน และตัดคณะกรรมการในส่วนของการประเมินผลออกไป ตลอดจนการบริหารจัดการและแหล่งที่มาของเงินในกองทุนฯ ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้
คณะ รัฐมนตรีวันที่ 23 มีนาคม 2553 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้าง สรรค์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดย ให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
กระทรวงวัฒนธรรมเสนอว่า
1. ผลการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของเด็กพบว่าโดยเฉลี่ยเด็กและ เยาวชนไทยบริโภคสื่อวันละ 12.9 ชั่วโมง โดยมีสัดส่วนการรับชมโทรทัศน์สูงสุดอยู่ที่ 5.7 ชั่วโมงต่อวัน และใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 3.1 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะเดียวกัน ผลการสำรวจสัดส่วนรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ประเภท ป (อายุ 3-5 ปี) และประเภท ด (อายุ 6-12 ปี) ในเดือนกรกฎาคม 2551 โดยโครงการ Child Media Watch พบ ว่า เฉลี่ยทุกสถานีในระบบฟรีทีวี มีสัดส่วนรายการเด็กเพียงร้อยละ 5.48 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด สอดคล้องกับผลการติดตามการจัดระดับความเหมาะสมของประเภทรายการโทรทัศน์ของ เครือข่ายสถาบันวิชาการนิเทศศาสตร์ 12 สถาบัน และเครือข่ายครอบครัวอาสาเฝ้าระวังสื่อ ที่พบว่า รายการประเภท ป และ ด ในช่วงเวลา 16.00-22.00 น. ของทุกสถานี มีเพียงร้อยละ 10 ซึ่งต่ำกว่าที่ระเบียบของกรมประชาสัมพันธ์ ได้กำหนดไว้ว่าต้องมีรายการสำหรับเด็กและเยาวชน ร้อยละ 25 ในผังรายการของช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนสื่อวิทยุนั้นพบว่ามีสัดส่วนของรายการสำหรับเด็กไม่ถึงร้อยละ 1 ของจำนวนเวลาและสถานีทั่วประเทศ
2. การวิเคราะห์ของภาควิชาการต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีจำนวนน้อยเนื่องมาจาก 1) นโยบายของสถานีที่มุ่งผลิตรายการเพื่อเป้าหมายทางการตลาด 2) ข้อจำกัดด้านเงินทุน เพราะรายการเด็กที่มีคุณภาพสูงต้องใช้ทุนผลิตสูงกว่า 300,000 บาทต่อชั่วโมง ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยและอิสระไม่สามารถอยู่ได้ 3) ข้อจำกัดเรื่องผู้สนับสนุนรายการ เนื่องจากรายการเด็กมักอยู่ในช่วงเวลาไม่ดี ได้รับความนิยมไม่มาก จึงมีผู้สนับสนุนรายการน้อย 4) ผู้ผลิตสื่อเด็กที่มีคุณภาพและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ พัฒนาการของเด็ก และสาระทางวัฒนธรรม ยังมีจำนวนน้อย ทำให้เกิดข้อจำกัดเรื่องคุณภาพเนื้อหา ในขณะที่ช่องทางของการเผยแพร่มีมากขึ้น โดยเฉพาะทีวีในระบบอื่น ๆ เช่น ดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต จึงทำให้มีความจำเป็นต้องเพิ่มเนื้อหาที่สร้างสรรค์
3. ในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงเพื่อพัฒนาศักยภาพในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ของผู้ผลิตสื่อ อาชีพเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้าง สรรค์กระจายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างทั่วถึงทุกระดับ รวมทั้งเพื่อสร้างกลไกในการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ โดยมีคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหาร ให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงาน และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินที่จะให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านต่าง ๆ และระดมการจัดหาทุนจากแหล่งต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการระดมความร่วมมือจากเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลและกำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุน (ร่างมาตรา 5)
2. กำหนดให้กองทุนส่วนหนึ่งประกอบด้วยทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนของรัฐบาล หรือที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและเงินรายได้ที่ กสทช.จัดสรรให้ (ร่างข้อ 6)
3. กำหนดให้กิจการของกองทุนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง แรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วย เงินทดแทน (ร่างข้อ 7)
4. กำหนดให้กองทุนมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน (ร่างข้อ 10)
5. กำหนดให้ กสทช. จัดสรรเงินรายได้ให้แก่กองทุนเป็นประจำทุกปี (ร่างมาตรา 11)
6. กำหนดให้กองทุนมีอำนาจจ่ายเงินจากกองทุนเป็นค่าใช้จ่ายตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 13)
7. กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่และองค์ประชุมคณะกรรมการฯ (ร่างมาตรา 14 ถึงร่างมาตรา 19)
8. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษา และคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่มอบหมายได้ และให้ได้รับเบี้ยประชุมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (ร่างมาตรา 20 และร่างมาตรา 21)
9. กำหนดให้มีผู้จัดการกองทุน คุณสมบัติของผู้จัดการ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่ (ร่างมาตรา 22 ถึงร่างมาตรา 25)
10. กำหนดให้กองทุนจัดทำงบการเงินและทำรายงานประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (ร่างมาตรา 32 และร่างมาตรา 33)
11. กำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 34 และร่างมาตรา 35)
12. ในวาระเริ่มแรกกำหนดให้คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งปฏิบัติ หน้าที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จนกว่าจะมีการแต่ง ตั้งกรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ร่างมาตรา 37)