สภาการนสพ. ออกโรงเตือนสติ “สื่อไทย” หลังเสนอข่าว “ฟิล์ม – แอนนี่”
วันนี้ (8 ต.ค.) เมื่อเวลา 14.40 น. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ออกแถลงย้ำบทบาทและการทำหน้าที่ที่เหมาะสมของสื่อหนังสือพิมพ์ไทยในการนำเสนอข่าว กรณี “ฟิล์ม-แอนนี่” ต่อสาธารณชนด้วยควมระมัดระวัง และรอบคอบต่อประเด็นสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิเด็ก หลังจากที่สื่อมวลชนจำนวนมากนำเสนอข่าวประเด็นนี้จนกระแสสังคมวิพากษ์ความเหมาะสมในการทำงานของสื่อมวลชนไทยในเรื่องจริยธรรมการนำเสนอข่าว
แถลงข่าวกรณีข่าว ฟิล์ม – แอนนี่
บทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมของสื่อหนังสือพิมพ์ไทย
สืบเนื่องจากกรณีที่สื่อมวลชนหนังสือพิมพ์รายวันเกือบทุกฉบับนำเสนอข่าวความสัมพันธ์ระหว่างดาราและนักร้อง นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ (ฟิล์ม) และนางสาวแอนนี่ บรู๊ค ตั้งแต่กลางเดือนกันยายนต่อเนื่องถึงต้นเดือนตุลาคมนั้น เป็นผลให้หลายฝ่ายได้สะท้อนข้อวิพากษ์เกี่ยวกับบทบาทความเหมาะสมด้าน จริยธรรมการทำหน้าที่ของสื่อหนังสือพิมพ์อย่างกว้างขวางนั้น
คณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้พิจารณาในวาระประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม มีมติเห็นสมควรให้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมและในกลุ่มวิชาชีพสื่อหนังสือพิมพ์ ด้วยกันเอง โดยเฉพาะในเรื่องบทบาท หน้าที่ การเคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดทั้งข้อพึงตระหนักถึงการนำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพฯ กล่าวคือ
มีการเปิดประเด็นของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ระบุชื่ออักษรย่อ จากนั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ตและสื่อมวลชนสาขาต่างๆ อย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องออกมาแถลงข่าวโต้ตอบกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับได้ให้ความสำคัญโดยให้พื้นที่ข่าวส่วนใหญ่บนหน้าหนึ่งทั้งการพาดหัวและเนื้อข่าว
จากการติดตามการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ คณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้บุคคลในข่าวจะเป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งเป็นเหตุผลในการนำเสนอข่าวเพื่อตอบสนองความสนใจของสาธารณชนตามองค์ ประกอบหนึ่งของหลักการประเมินคุณค่าข่าวก็ตาม แต่การนำเสนอข่าวลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และหมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมข้อที่ว่าด้วยการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สิทธิเด็กที่พึงระมัดระวังถึงผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ในอนาคต ความบังควรหรือไม่บังควรด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะการเสนอภาพเด็กอย่างโจ่งแจ้งปราศจากความระมัดระวัง จะด้วยเจตนาหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม เช่น การเปิดเผยที่อยู่ของคู่กรณีอย่างเกินความจำเป็น การตรวจสอบรหัสพันธุกรรม (DNA) เพื่อยืนยันความเป็นผู้ปกครอง แม้ประเด็นดังกล่าวจะท้าทายการพิสูจน์ความจริงระหว่างคู่กรณี แต่ก็เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ที่มิได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างแท้จริง สื่อมวลชนจึงควรทำหน้าที่ ‘สื่อ’ ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
อย่าง ไรก็ตาม คณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอแสดงความชื่นชมต่อหนังสือพิมพ์ที่อุทิศพื้นที่ข่าวดังกล่าวในแง่มุมที่ เป็นบทเรียนและมีประโยชน์ต่อสาธารณะ อาทิ นำเสนอความคิดเห็นเชิงเสนอแนะจากนักวิชาการ นักจิตวิทยา นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี นักสิทธิมนุษยชน บุคลากรในวงการสาธารณสุข ฯลฯ อันเป็นข้อคิดที่ดีที่พึงปฏิบัติแก่เยาวชนและสังคม
คณะ อนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สื่อมวลชนทุกแขนงจะตระหนักถึงหลักจริยธรรมทางวิชาชีพในการแสดงบทบาทและทำ หน้าที่ตามมาตรฐานสื่อมวลชนที่ดี เพื่อร่วมสรรค์สร้างจรรโลงสังคมในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่าง ยั่งยืนต่อไป
คณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
8 ตุลาคม 2553