คพส.เคาะสนิม ปลุกผู้มีหน้าที่ลุกขึ้นมาบังคับใช้กม.ละเมิดสิทธิเด็กจริงจัง
กสม. จัดสัมมนาโต๊ะกลม "สิทธิหนูอยู่ไหน" มานิจ สุขสมจิตร ยันสภาการฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เฝ้ามองสื่อเสนอข่าวมากเกิน โดยไม่ได้ปกป้องสิทธิเด็ก หวั่นสร้างผลกระทบระยะยาว ด้านคณบดีนิเทศฯ ม.หอการค้า ฟันธงข่าวดาราเกิดการละเมิดทุกประเภท ตั้งแต่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ละเมิดสิทธิเด็ก ละเมิดความเป็นมนุษย์ หมิ่นประมาท
วันนี้ (7 ต.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาโต๊ะกลม เรื่อง "สิทธิหนูอยู่ไหน" ณ ห้องประชุม ชั้น 7 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยมีนางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล ประธานเปิดการสัมมนา
สำหรับวิทยากรการในเวทีสัมมนา ประกอบด้วยนายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ บรรณาธิการรายการข่าว สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย และที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายเกษม จันทร์น้อย อนุกรรมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน ในกสม. และคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย
เริ่มต้น นายมานิจ กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กบนพื้นที่สื่อว่า มีกำหนดไว้ในหลักการจริยธรรมวิชาชีพสื่อ แต่การปฏิบัติให้อยู่ในกรอบจริยธรรมนั้นจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เป็นวิถีชีวิต ให้จริยธรรมเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของสื่อ ซึ่งต้องใช้เวลาเนื่องจากที่มาของคนในวิชาชีพสื่อมาจากหลายที่หลายแหล่ง ขณะเดียวกันเรามีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พ.ร.บ.คุ้มครองการกระทำรุนแรงในครองครัว พ.ศ.2550 ที่ห้ามไม่ให้สื่อนำเสนอข่าวเมื่อมีการแจ้งความแล้วว่า มีการกระทำรุนแรงต่อครอบครัวห้ามไม่มีการลงตีพิมพ์โฆษณาหรือเผยแพร่ หรือพ.ร.บ.ป้องกันการปราบและค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยกฎหมายเหล่านี้ถูกละเลย และไม่เคยได้ยินว่า มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อประเภทใดก็ตาม
“นอกจากนี้ยังมีพ.ร.บ.วิธีพิจารณาและจัดตั้งศาลคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 เป็นกฎหมายเก่า กำลังเสนอเลิกติดอยู่ที่สภาฯ ก็ถูกละเมิดเป็นประจำทุกวัน ทั้งทางทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ในกฎหมายบอกว่า ห้ามมิให้ผู้ใดแพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือเสียงเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดฯ ผมทำงานหนังสือพิมพ์มา ก็ยังไม่เคยเห็นมีการดำเนินคดีกับคนที่กระทำความผิดตามมาตรานี้เลย” นายมานิจ กล่าว และเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามกฎหมาย ลุกขึ้นมาทำหน้าที่เสียที มิเช่นนั้นก็จะต้องมีเรื่องพูดจาแบบนี้เรื่อยๆ
กรณีดาราที่เป็นข่าวดัง Talk of the town นั้น ประธาน คพส.กล่าวว่า สภาการนักหนังสือพิมพ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ มองว่าเรื่องนี้ สื่อเสนอข่าวมากเกินไปโดยไม่ได้ปกป้องสิทธิของเด็ก และอาจมีผลต่อไปในวันข้างหน้า เรื่องไม่จบ ส่วนตัวคิดว่า การเสนอข่าวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้องอย่างมาก ขณะนี้ทางสภาการฯ กำลังออกข้อปฏิบัติการเสนอข่าวนี้ กำลังร่างแถลงเรียกร้องสื่อให้คำนึงถึงจริยธรรมในวิชาชีพของสื่อแต่ละแขนง และหากเสนอ ควรมีข้อคิด ส่งเสริม ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
ด้านนายก่อเขต กล่าวถึงกรณีดาราดังที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก ไม่ใช่เรื่องของครอบครัวอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของความอยากรู้อยากเห็นของคนในสังคม และเป็นเรื่องของธุรกิจ เชื่อมโยงถึงกัน การตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของคนในสังคมนี่เอง สื่อจะตอบสนองแบบไหน และแค่ไหนจึงจะเหมาะสม ซึ่งกรณีการละเมิดสิทธิเด็ก และการทำร้ายเด็กนั้น สังคมไทยยังไม่มีมโนสำนึก และการตระหนักรู้ ว่า แค่ไหนละเมิด แค่ไหนทำร้าย และก็ไม่แน่ใจด้วยว่า กรณีนี้คนใกล้ชิดเด็กที่สุด ผู้เป็นแม่จะตระหนักรู้หรือไม่ว่า สิ่งที่ทำไปนั้น เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก
“เราต้องตระหนักถึงความจริง ข่าวประเภทนี้ ได้รับความสนใจอย่างมา เป็นสิ่งที่สังคมอยากรู้อยากเห็น ไม่ผิด เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่อยากถามว่าแค่ไหนถึงเหมาะและพอ ดังนั้นคนในสังคมต้องแสดงออกถึงการไม่ต้องการข่าวแบบนี้” ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าว และว่า การกำกับดูแลสื่อ โดยผู้รับสาร ผู้อ่าน ผู้ชม ผู้ฟัง เชื่อว่า จะมีพลังมาก หากมีการเคลื่อนอย่างเป็นระบบ เพราะลำพังจริยธรรม จรรยาบรรณ ข้อกฎหมาย กำกับอย่างเดียวยังไม่พอ
ขณะที่ รศ.มาลี กล่าวถึงนักศึกษาที่ออกจากมหาวิทยาลัย มีจริยธรรมระดับหนึ่ง แต่เวลาไปอยู่ในองค์กร มีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง มีเรื่องธุรกิจ มีการแข่งขัน ความเข้มข้นเรื่องจริยธรรมถูกลดทอนลง ดังนั้นการฝึกเรื่องจริยธรรมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝึกตั้งแต่เด็กๆ กรณีที่กำลังเป็นข่าวนี้ในเชิงวิชาการ คิดว่า เกิดประเด็นละเมิดทุกประเภท ตั้งแต่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ละเมิดสิทธิเด็ก ละเมิดความเป็นมนุษย์ หมิ่นประมาท
“ได้สนอในการประชุมคณะกรรมการ สภาการนักหนังสือพิมพ์ว่า น่าจะนำมาเป็นกรณีศึกษา สื่อนำเสนอข่าวนี้ ละเมิดข้อไหน เพื่อให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากบางครั้งคนละเมิดอาจไม่รู้ตัว บางทีสื่อเผลอ ลืมหยั้งคิด ซึ่งน่าจะถึงเวลาแล้วที่สื่อต้องรู้ตัวเองว่า เมื่อไหร่ถึงจะหยุด” รศ.มาลี กล่าว และว่า ในฐานะนักข่าว เป็น Gate Keeper ควรพิจารณาการเสนอข่าวด้วยว่า ต้องเสนอ หรือควรเสนอได้ขนาดไหน บทบาทของสื่อไม่ควรเสนอสิ่งที่อยากรู้อย่างเดียว แต่ถ้าเป็นสื่อ แม่อุ้มลูกออกมา แม้เป็นความต้องการของแม่ แต่เมื่อสื่อนำเสนอ มีสิทธิ์หลีกเลี่ยงเด็กที่จะได้รับผลกระทบได้
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวอีกว่า สื่อทุกวันนี้เป็นธุรกิจสูงมาก จนนักข่าวสนุกกับสิ่งที่ตัวเองรายงาน มีการค้นภาพเด็กมาเปรียบเทียบต่อหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่ง หากสื่อทำข่าวสืบสวนสอบสวนการโกงภาษีได้ดีให้เหมือนข่าวการขุดคุ้ยเรื่องดารา จะถือว่า สื่อ ทำหน้าที่ได้อย่างดีมาก บทเรียนครั้งนี้ ถือว่า สื่อขาดสติในการทำงาน ต้องลง ต้องได้ข่าวมาเหมือนๆ ฉบับอื่น ทั้งๆที่ข่าวนั้นล้ำเส้น การเสนอข่าวออกไปเกิดผลกระทบ ถามว่า ทำไมสื่อไม่ทำตัวอย่าง ให้เห็น สื่อที่ดีเป็นอย่างไร
รศ.มาลี กล่าวถึงการรายงานข่าวชิ้นนี้ หากสื่อไม่ล้ำเส้นหรือละเมิดหลักจริยธรรม สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาให้ความรู้กับเยาวชนว่า ควรต้องปกป้องตัวเองอย่างไร ประชาชนได้เรียนรู้จากสื่อ แต่กลับกลายเป็นว่า ประชาชนอ่านข่าวชิ้นนี้เหมือนอ่านข่าวละครเรื่องหนึ่ง ดังนั้นเราต้องช่วยกันให้ประชาชนตรวจสอบสื่อและควบคุมสื่อได้ การรู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้สื่อหันกลับมามีจริยธรรม
ส่วนนายเกษม กล่าวว่า ข่าวดาราดังถือว่าสื่อละเมิดสิทธิเด็กเต็มที่ สื่อละเลย มองไม่เห็น และทำตามกระแส ทำตามคำสั่งเจ้าของสื่อ ซึ่ง กสม. ตำรวจ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เอ็นจีโอ ควรออกมาบอกให้สื่อได้ตระหนัก พร้อมขอให้เรื่องนี้เป็นบทเรียนสุดท้ายอย่าเกิดขึ้นอีก และฝากองค์กรที่เป็นภาคประชาชนควรออกมารวมตัวสะท้อน พูดออกมาอย่าปล่อยให้สื่อนำเสนอข่าวไป เหมือนผู้บริโภครู้ไม่เท่าทัน
ช่วงท้าย นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศใดในโลก ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งยังมีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความผิดรุนแรงในครอบครัว พ.ร.บ.วิธีพิจารณาและจัดตั้งศาลคดีเยาวชนและครอบครัว ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นกฎหมายที่เอื้อและสอดคล้องกับกลไกของรัฐธรรมนูญ แต่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่ศักดิ์สิทธิ์
ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวกับสาธารณะนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องแยกให้ออกอะไรเป็นข้อมูลส่วนตัว อะไรคือข้อมูลสาธารณะ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 35 และพ.ร.บ.วิธีพิจารณาและจัดตั้งศาลคดีเยาวชนและครอบครัว จะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น