นักวิชาการซัดกทช.ทำไม่ถูกเร่งคลอด3G ขณะที่การทำงานยังติดลบ
ดร.อนุภาพ เผย กทช. ไม่เคยมีคนจนในหัวใจ ฉะทุกฝ่ายทำเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ด้าน ดร.ยรรยง ชี้ 3G เป็นสมบัติชาติ แนะคนมีอำนาจอย่าถือโอกาสยกให้เป็นทุนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานจิบน้ำชาครั้งที่ 2 หัวข้อ “3G : ผลประโยชน์ชาติ ประชาชน หรือผลประโยชน์ใคร” มี ดร.อนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านไอซีที ,ดร.ยรรยง เต็งอำนวย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความ ร่วมเป็นวิทยากร ณ ห้องคอนเน็กส์ 5 มหาวิทยาลัยศรีประทุม วิทยาเขตพญาไท ชั้น 17 อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร
ดร.อนุภาพ กล่าวตอนหนึ่งถึงการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันว่า ไม่เพียงใช้บริโภคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อย่าง 3G ที่มีลักษณะเป็นสินค้าทุน ที่สามารถผลิตสิ่งอื่น ดังนั้น การพิจารณาให้รอบคอบในการจัดการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาการจัดการเทคโนโลยีในประเทศไทยนั้น ถูกตัดออกจากการการจัดการดูแลของประเทศโดยสิ้นเชิง และทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ไม่เคยมีแนวคิดการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ จึงเสมือนการทำงานไปตามมีตามเกิด
“การทำงานของ กทช. ไม่เคยมีคนจนในหัวใจ โดย กทช.ทำ 3G เน้นเพียงประโยชน์ส่วนตน ไม่มุ่งความต้องการของคนส่วนใหญ่ตั้งแต่ต้น เพราะไม่ได้เริ่มทำจากคนต่างจังหวัด คนชนบท แต่ กทช.เริ่มทำ 3G เพราะอยากให้เกิดได้เร็วที่สุด ขณะที่ยังไม่มีความพร้อม อีกทั้งเงื่อนไขในการกำกับใบอนุญาตไม่มีผลประโยชน์ของคนส่วนรวมเข้าไปมีส่วนร่วมเลย”
สำหรับผลประโยชน์ 3G อยู่ที่ใคร และทำไมเหตุการณ์ต้องจบในเดือน ก.ย. ดร.อนุภาพ กล่าวว่า เพราะเอกชนต้องการให้จบเร็วที่สุด จากผลประโยชน์ที่มีสุดท้าย เงินที่ได้อาจจะเหลือศูนย์บาท และการต้องการสร้างโครงข่ายให้เร็วติดสปีด 3 ปี ซึ่งหากรอ 3 ปี จะโอนถ่ายลูกค้าไม่ทัน
“ส่วนหน่วยงานของรัฐอย่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ส่วนตนไว้ เพราะหากต้องรออีก 3 ปี เมื่อเอกชนที่ได้รับการสัมปทานคลื่นก่อนหน้านี้หมดอายุสัญญาทั้ง 3 ราย เงินที่ผู้ใช้แต่ละปีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 แสน 8 หมื่นล้านบาท จะหายไป การดำเนินงานต่างๆ โครงข่ายกลับคืนภาครัฐหมด และสุดท้ายลูกค้าก็จะไม่มีทางเลือก ก็ต้องเสียประโยชน์เช่นกัน”
ด้าน ดร.ยรรยง กล่าวว่า 3G ไม่ได้เป็นเพียงโทรศัพท์ และถือเป็นสมบัติของชาติที่มีมูลค่ามหาศาล เทคโนโลยีนั้นมีการก้าวกระโดดอยู่ตลอดเวลา เมื่อมี 3G ถือเป็นการปรับเปลี่ยนจากระบบเสียง (Voice System) เป็น (Data System) เป็นจุดเปลี่ยนของการกระหายของคนในการติดต่อสื่อสาร กลายเป็นประโยชน์ ที่ทุกอย่างมีการจัดเก็บไว้ได้ ซึ่งการมีเทคโนโลยีเช่นนี้ การรับ-ส่งคลิป จะนับเป็นเรื่องปกติ แต่จะมีสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติม คือ ในภาคเกษตรกร สำหรับชาวนาหากมีปัญหาเพลี้ยลง ก็สามารถดาวน์โหลดวิธีการแก้ปัญหามาได้ เพียงอยู่ในบ้าน ไม่ต้องเดินทางไปนอกสถานที่ ถือเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก
“สิ่งที่น่ากลัวขณะนี้ คือ การแปลงสมบัติของชาติมาเป็นเงิน ที่คนในอำนาจแปลงเป็นผลประโยชน์ที่ถือว่าฆ่าประเทศชาติ โดยสิ่งที่กำลังทำ กำลังตัดสมบัติที่มีค่าที่เป็นทรัพยากรประเทศให้หมดไป ทุกคลื่นจะกลายเป็นสิ่งที่มีเจ้าของ ทั้งๆที่ไม่ได้ใช้กันทุกคน ทางออกของประเทศ คือ การเกาะไปกับเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้ก่อน เช่น เทคโนโลยีแบบเปิด อย่าง ไวไฟ (Wi-Fi) ที่อาจคืนทุนได้ ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง”
ส่วน นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า การประมูลที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของ 3G เพียงอย่างเดียว แต่จะส่งผลให้ความสัมพันธ์กับรัฐวิสาหกิจและคู่สัญญาเปลี่ยนไปด้วย เป็นการแข่งขัน ซึ่งจากการล้มประมูล 3G ทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะหากเอกชนได้ใบอนุญาต 3G จะทำให้ต้นทุนลดลง 25-30 % จากการที่ไม่ต้องเสียค่าสัมปทานให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเวลานั้นค่าโทรศัพท์ของประชาชนจะถูกลง แต่หากกำกับดูแลไม่ดี ตรงนี้ ภาคเอกชนอาจจะได้เงินกำไรมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องกำกับให้ดี สิ่งที่น่ากังวล คือ การที่อีก 3 ปี จะเกิดการสิ้นสุดสัญญาร่วมกัน คนที่ซวยคือ ผู้บริโภค ที่รัฐต้องออกมาดูแลและปกป้องให้มาก
นพ.ประวิทย์ กล่าวต่อว่า มีความชัดเจนว่าการขยายตัวของโมบายบรอดแบนด์จะไม่มีอีกต่อไป และหันมาเน้นหาประโยชน์จากเครือข่ายไร้สายอย่าง 3G เพราะได้ประโยชน์ทางด้านเนื้อหา รายได้ การลงทุนจากองค์กรต่างๆ ซึ่งหากต่อไปไม่มีการพัฒนาระบบ 3G ก็จะทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสการเข้าถึงบรอดแบนด์ เพราะนักลงทุน ไม่นิยมวางสายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่อย่างไรก็ตามการเข้าถึงโครงข่ายบรอดแบนด์ก็ยังเข้าถึงเพียง 80% เพราะอีก20 % ในชนบทก็ยังเข้าไปไม่ถึง
ขณะที่ นายเดชอุดม กล่าวว่า ทุกวันนี้ สิ่งที่ กทช.ทำนั้น ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะการที่ให้หมายเลขโทรศัพท์ ที่เป็นขององค์การโทรศัพท์ ถูกแปรเป็นหมายเลขโทรคมนาคมนั้นไม่ได้ กทช.มีเพียงหน้าที่จัดสรรคลื่นเท่านั้น จนทุกวันนี้กลายเป็นว่าผู้รับสัมปทานได้ผลประโยชน์เข้าไปเต็มๆ ซึ่งต้องตรองดูให้ถี่ถ้วน ก่อนที่จะไปอำนาจสัมปทานไปให้ใคร เพราะในอนาคตหากมีการพัฒนาโครงข่ายไปมากกว่า 3G ผลประโยชน์ชาติหายไปแน่นอน
“จริงๆ การทำงานของ กทช. หมดสัญญามาตั้งแต่ 19 ก.ย. 49 ตั้งแต่มีรัฐประหาร แต่ก็ยังทำงานกันต่อ ซึ่งก็ไม่รู้เพราะอะไร ผมอยากบอกว่า แทบจะเป็นมหากาพย์คอรัปชั่นของประเทศ จากบารมีของนักการเมืองหรือผู้มีผลส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นหากจะฝืนกันต่อไป ควรจัดการการทำงานเสียใหม่ อ่านข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบ และเน้นย้ำว่าต้องเห็นแก่ชาติเป็นสำคัญ”