องค์กรสื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อวิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน
ขอให้เร่งรัดผลักดัน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และขอให้มีตัวแทนสื่อเข้าไปมีส่วนร่วมใน กมธ. ซึ่งที่ประชุมสภาฯ ลงมติตั้ง กมธ.ร่วม 2 สภาฯ 22 คน พร้อมเสนอรายชื่อกรรมาธิการร่วม ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร 11
วานนี้ (28 ก.ย.) นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) ประชุมคณะกรรมการที่มาจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการและตัวแทนภาคประชาสังคม เพื่อติดตามความคืบหน้าของคณะทำงานชุดต่างๆ
นายมานิจ กล่าวถึงการดำเนินงานของ คพส.ว่า มีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะงานด้านการพัฒนาบุคคลากรในวิชาชีพ ซึ่งคณะทำงานได้เสนอให้มีหลักสูตรความพร้อมก่อนเข้าสู่วิชาชีพสำหรับนิสิต นักศึกษาทุกสาขาที่ต้องการเข้าสู่อาชีพนักข่าว เพื่อให้ได้บุคคลากรที่มีคุณภาพและมีความมุ่งมั่นเข้าสู่วิชาชีพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะมีโครงการเสริมความรู้และวิสัยทัศน์สำหรับบุคลากรระดับบรรณาธิการและ หัวหน้าข่าวเพิ่มมากขึ้น
ส่วนงานด้านการพัฒนากลไกควบคุมกันเองในวิชาชีพนั้น ประธาน คพส.กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างการควบคุมกันเองของสื่อในประเทศ ประชาธิปไตยต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย และงานด้านการปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนมีข้อเสนอให้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการเพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น
นายมานิจ กล่าวด้วยว่า งานอีกด้านหนึ่งที่มีความคืบหน้าไปมากคือ การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งกำลังจะจัดการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องในวันที่ 6 ต.ค.นี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงกลไกที่จะมาทำหน้าที่เฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในอนาคต ส่วนการปรับปรุงกฎหมายด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์นั้น คพส.มีความห่วงใยต่อร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ที่วุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการแก้ไขในสาระสำคัญจากร่างของสภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้สภาผู้แทนฯ กำลังพิจารณาว่าจะเห็นชอบกับร่างที่วุฒิสภาแก้ไขมาหรือไม่
“คณะกรรมการ คพส.มีความเห็นตรงกันว่า สภาผู้แทนราษฎรต้องเร่งรัดการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ด้วยการไม่รับร่างที่วุฒิสภาแก้ไขและตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภาเพื่อดำเนินการพิจารณาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมกันนี้ คพส.จะส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือต่อประธานวิปรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอให้มีตัวแทนของสื่อมวลชนในคณะกรรมาธิการร่วมด้วย เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ มีความสำคัญต่อการปฏิรูปสื่อมวลชนในอนาคต” ประธาน คพส.กล่าว
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (29 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในนามคพส. ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่มาจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี อุปนายกสมาคมฝ่ายต่างประเทศ ได้เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อนายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เรื่อง ขอให้เร่งรัดผลักดันพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ โดยเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่แก้ไขโดยวุฒติสภา เพื่อให้มีตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภาขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง และขอให้มีตัวแทนสื่อมวลชนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภาที่จะตั้งขึ้น
ด้านนายวิทยา กล่าวว่า วิปรัฐบาลเห็นด้วยกับ 3 ประเด็น ที่องค์กรสื่อได้เสนอมา โดยจะให้มีการพิจารณาแก้ไข 23 มาตรา ให้เสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ และสนับสนุนที่จะให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว โดยสัดส่วนในการตั้งคณะกรรมาธิการ 22 คน มีพรรคประชาธิปัตย์ 4 คน ซึ่งได้จัดบุคคลลงไว้เต็มหมดแล้ว ดังนั้น การที่ตัวแทนสื่อจะเสนอให้มีการตัวแทนวิชาชีพสื่อเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการร่วมนั้น ตนจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับทางพรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคภูมิใจไทยว่าจะแบ่งสัดส่วนมาได้หรือไม่
และเมื่อเวลา 10.30 น. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ได้ยื่นหนังสือและเข้าพบ นายวิทยา บูรณะศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน โดยประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า วิปฝ่ายค้านให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการปฏิรูปสื่อ อย่างไรก็ตามในส่วนของการตั้งกรรมการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่จะให้องค์กรวิชาชีพสื่อเข้ามามีส่วนร่วม แต่อาจจะเป็นในรูปแบบของที่ปรึกษา หรือคณะอนุกรรมการ ส่วนเรื่องการผ่านร่างกฎหมาย ตนเชื่อว่าจะผ่านให้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ต้องมีความรัดกุม
สำหรับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาและอภิปรายร่างพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาค (กสทช.) ที่วุฒิสภาพิจารณาแก้ไข ไปเมื่อวันพฤหัสที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา และได้มีการปิดการประชุมไปก่อนจะมีการลงมติ ซึ่งทำให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 29 ก.ย.นี้ เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ได้มีการลงมติร่างพ.ร.บ.กสทช.ทันที โดยที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภาแก้ไขด้วยเสียง 296 ต่อ 0 งด 2 ไม่ลงคะแนน 18
จากนั้นนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้หารือว่า จะทำอย่างไรจะให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวตกไป หรือจะให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งนายธนิพล ไชยนันท์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันจำนวน 22 คน
รายชื่อกรรมาธิการร่วม ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร 11 คน
พรรคเพื่อไทย จำนวน 4 คน
1.นายประเดิมชัย สะสมทรัพย์
2.นายเจริญ จรรย์โกมล
3.นายสุนัย จุลพงศธร
4.นายประเกียรติ นาสิมมา
พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 4 คน
1.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
2.ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
3.นายดิสทัต โหตระกิตย์ (กฤษฏีกา)
4.นายอภิชาติ ศักดิเศรษฐ์
พรรคภูมิใจไทย จำนวน 1 คน
1.นายสนอง เทพอักษรณรงค์
พรรคเพื่อแผ่นดิน จำนวน 1 คน
1.นายคงกฤช หงษ์วิไล***
พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 1 คน
1.น.ส.พัชรี โพธิสุธน
*** เป็นคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬา