เปิด 3 ยุทธศาสตร์นำโซเชี่ยลมีเดียมาใช้สร้างการมีส่วนร่วม
ผอ.สถาบันเช้นจ์ฟิวชั่น เชื่อ “สังคมออนไลน์” ช่วยลดต้นทุนการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของปชช.ได้มหาศาล พร้อมแนะรบ.เปิดระบบเผยข้อมูลออนไลน์-เปิดพท.นโยบายสาธารณะ-สร้างระบบ “เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อสังคม”
วันนี้ (28 ก.ย.) ณ ห้อง Meeting 1 สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ในการประชุมเครือข่ายสถาบันทางปัญญา เวทีปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะของคนไทย ครั้งที่ 41 ซึ่งมีศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเช้นจ์ฟิวชั่น (Change Fusion) นำเสนอเรื่อง “โซเชี่ยลมีเดีย (Social Media) เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” โดยนำเสนอ 3 ยุทธศาสตร์ในการนำโซเชี่ยลมีเดียมาสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม โดยเน้นความร่วมมือจากภาครัฐ ประชาสังคม ธุรกิจ และกลุ่มชุมชนสังคมออนไลน์
นายสุนิตย์ กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและโซเชี่ยลมีเดีย สามารถช่วยลดต้นทุนอย่างมหาศาลในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยพบว่า แนวโน้มในอนาคตปริมาณการใช้โซเชี่ยลมีเดียจะเข้ามาแทนที่การใช้อินเตอร์เน็ตบนหน้าเว็บไซต์ ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค พบมีคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตในปี 2552 จำนวน 18.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่มีผู้ใช้เพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้น
นายสุนิตย์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์การนำโซเชี่ยลมีเดียมาใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมว่า มีอยู่ 3 ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์แรก รัฐต้องสร้างระบบเปิดเผยข้อมูลของรัฐ (Open Data) ที่เน้นความโปร่งใส ทำให้เกิดระบบกลางของข้อมูลประเทศ มีเป้าหมายในการเปิดเผยข้อมูล กำหนดมาตรฐานข้อมูลเพื่อการเข้าถึงที่ชัดเจน สร้างระบบกลางเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญ เช่น สถิติ งบประมาณ การประมูล ผลการประชุมที่สำคัญ ฯลฯ ตัวอย่าง เช่น เว็บไซต์ไทยเข้มแข็ง หรือเช่นเดียวกับ www.data.gov ของสหรัฐอเมริกาที่รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานอย่างเป็นระบบโดยเชิญภาคีมาร่วมพัฒนาระบบข้อมูล อาทิ มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยพัฒนาต่างๆ ภายในประเทศ เป็นต้น
นายสุนิตย์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 2 ต้องเปิดพื้นที่นโยบายอย่างกว้างขวางแก่สังคม (Policy Crowd sourcing) โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกคน ที่ใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชี่ยลมีเดียเป็นช่องทางสำคัญ และควรจัดกระบวนการเพื่อเสริมศักยภาพเชิงรุกในเรื่องนี้ให้มีกลไกรองรับการเปิด พื้นที่จริง รวมถึงต้องเชื่อมโยงและหนุนกระบวนการเปลี่ยนประเทศไทย เช่น คณะกรรมการปฏิรูป สมัชชาปฏิรูป กลไกของรัฐบาล การขับเคลื่อนของกลุ่มประชาสังคมเข้าเป็นระบบข้อมูลด้วยกัน
“ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างระบบเชื่อมโยง ระดมอาสาสมัครและการให้ (Volunteer and Giving Matching) ที่เน้นความร่วมมือ โดยต่อยอดเครือข่ายออนไลน์แนวอาสา จัดระบบเชื่อมโยงข้อมูล เชื่อมประเด็นสำคัญ การสร้างรับรู้และผู้สนับสนุนเชิงประเด็น ระดมอาสาสมัคร ทุน ทรัพยากร ร่วมกระบวนการเพื่อนำร่อง เช่น โครงการไอเดียประเทศไทย เป็นต้น” ผู้อำนวยการสถาบันเช้นจ์ฟิวชั่น กล่าว และว่า ทั้ง 3 ยุทธศาสตร์นี้จะทำให้โซเชี่ยลมีเดียมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง สังคมได้ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับแนวทางการสร้างภาคีความร่วมมือในการขับเคลื่อนนำโซเชี่ยลมีเดียมาใช้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น นายสุนิตย์ กล่าวว่า ภาครัฐ ธุรกิจ ประชาสังคม และภาคกลุ่มโซเชี่ยลมีเดีย หรือชุมชนออนไลน์จะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างกัน โดยรัฐควรจะประกาศนโยบายและมาตรการด้านมาตรฐานและระบบการเปิดเผยเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญของรัฐแบบออนไลน์, รัฐควรส่งเสริมหนุนให้เกิดการใช้งานและพัฒนาแอพพลิเคชั่นการใช้งานข้อมูลโดยภาคประชาชน เอกชน มหาวิทยาลัย ส่งเสริมการจัดประกวดพัฒนาร่วมกัน และรัฐควรเปิดพื้นที่นำเสนอนโยบายออนไลน์โดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดกระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างเป็นระบบที่เป็นรูปธรรมด้วย
นายสุนิตย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของภาคประชาสังคมควรตั้งสถาบันหรือโครงการความร่วมมือเร่งหนุนให้คนในประเทศสามารถใช้โซเชี่ยลมีเดีย ขับเคลื่อน รณรงค์ สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยให้เชื่อมโยงกับชุมชนออนไลน์ได้ด้วย นอกจากนี้ร่วมกันพัฒนาระบบที่เชื่อมอาสาสมัครและเงินทุนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันภาคกลุ่มสังคมออนไลน์ก็ต้องรวมตัวเป็นเครือข่ายโซเชี่ยลมีเดียเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมของประเทศ พร้อมทั้งเชื่อมโยงความร่วมมือกับกลุ่มโซเชี่ยลมีเดียเพื่อสังคมในต่างประเทศด้วย
“ทางภาคธุรกิจก็ควรสนับสนุนทรัพยากร เงินทุน เทคโนโลยี เครื่องมือต่างๆ และความเชี่ยวชาญเฉพาะร่วมลงทุนกับโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ใช้โซเชี่ยลมีเดียมาสร้างการเปลี่ยนแปลง” นายสุนิตย์ กล่าวและว่า การนำโซเชี่ยลมีเดียมาใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น ยังมีความท้าทายในเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาพบว่า ประชาชนจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงข้อมูลเชิงประเด็นและสื่อนี้ , การขาดช่องทางการนำเสนอและพัฒนานโยบาย ที่ประชาชนยังไม่สามารถร่วมผลักดันดำเนินการให้เกิดจริงได้
ด้านนายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบัณฑิตเซ็นเตอร์ จำกัด, เจ้าของเว็บไซต์กระปุกดอทคอม และผู้จัดการเครือข่ายกลุ่มพลังบวก กล่าวว่า หากมีระบบการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) จากรัฐบาล ถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าวผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดียสู่สังคม เพียงเท่านี้คนทุกกลุ่มก็จะได้ประโยชน์ทันที นับเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปประเทศไทยแล้ว
“ตัวอย่าง เช่น การปฏิรูปนักการเมือง หากประชาชนมีฐานข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจ ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองได้โดยง่าย นอกจากนั้นเรื่องการต่อยอดการเปิดพื้นที่นโยบายและการเชื่อมต่อเครือข่าย อาสาสมัครก็จะสามารถช่วยกันดึงคนที่มีความคิดร่วมกันมาเป็นเครือข่ายที่ กว้างขวางขึ้น นำไปสู่การอาสาช่วยเหลือกันในทุกๆด้านระหว่างกันในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง ด้วย”
สุดท้ายนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม กรรมการผู้อำนวยการ สำนักข่าวทีนิวส์ และอดีตผู้ก่อตั้งสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. กล่าวว่า สิ่งแรกที่ควรปฏิรูปในประเด็นโซเชี่ยลมีเดียเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น จะต้องทำเรื่องการปฏิรูปการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนในสังคมก่อนลำดับแรกก่อน