บสก.2 สัมมนาสาธารณะ "ปฏิรูปสื่อ : ผ่าปัญหา...คว้าทางออก”
ดร.สุดารัตน์ โทษ “ระบบ” ทำคนในวิชาชีพสื่อ เก่งไม่ออก- ไม่พัฒนา เหตุจำเจทำงานอยู่แบบเดิมๆ เหมือนรง.ผลิตตุ๊กตา แถมกลัวตกข่าวจัด ถึงขั้นต้องลอกข่าว ย้อนถาม จริงๆแล้วจำเป็นหรือไม่ต้องมีข่าวเหมือนๆ กัน ขณะที่ จักรกฤษ เพิ่มพูน ชี้จะปฏิรูปสื่อ เริ่มที่ปฏิรูปความรู้ -สื่อกับความรับผิดชอบต่อสังคม
วันนี้ (25 ก.ย.) สถาบันอิศรา หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 2 ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานสัมมนาสาธารณะ เรื่อง "ปฏิรูปสื่อ : ผ่าปัญหา...คว้าทางออก” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน
เริ่มต้น นายวีระศักดิ์ พงษ์อักษร ตัวแทนคณะทำงานพัฒนากลไกควบคุมกันเองทางวิชาชีพ กล่าวถึงที่ไปที่มาของการก่อตั้ง คพส.ขึ้นมาว่า ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลแต่อย่างใด โดยก่อนหน้าเหตุการณ์ความรุนแรงได้มีการคุยกันมาตลอดแล้วว่า สื่อเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดความรุนแรง ถึงเวลาต้องสังคยนา มีการมองเห็นแล้วว่า ต้องทำอะไรสักอย่าง จึงเป็นที่มา คพส. ก่อนจะต่อยอดตั้ง 5 คณะทำงาน เดินหน้า ปฏิรูปสื่อ
นายวีระศักดิ์ กล่าวถึงความทันสมัย และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ได้ทลายกำแพง การผูกขาดความคิดไปหมดแล้ว วันนี้มีหมาเฝ้าบ้านเต็มบ้านเต็มเมือง เกิดสื่อภาคพลเมือง เปรียบเหมือนธุรกิจ SMEs ที่รัฐบาลส่งเสริมจนเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง แต่สุดท้ายสังคมค่อยๆ กรอง และธุรกิจ SMEs ค่อยๆตายไปในที่สุด สื่อก็เช่นเดียวกัน พร้อมมองว่า การกำกับสื่อไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย โดยเฉพาะกับสื่อออนไลน์ ดังนั้นต้องให้สังคมกำกับกันเอง
ด้านนายจักรกฤษ เพิ่มพูน ตัวแทนคณะทำงานปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิ เสรีภาพสื่อมวลชน กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อว่า ไม่มีความจำเป็น และไม่มีจุดต้องไปปฏิรูป เนื่องจากสื่อปฏิรูปตัวเองทำอยู่ตลอดเวลา แต่หากจะพูดถึงการปฏิรูปสื่อ ประเด็นสำคัญ น่าจะเริ่มที่ปฏิรูปความรู้ นอกจากการเรียกร้องสิทธิ์เสรีภาพแล้ว ยังไม่มีการพูดถึงสื่อกับความรับผิดชอบต่อสังคม
นายจักรกฤษ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ว่า เป็นกฎหมายลูกออกตามความในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 46 เพื่อการรับรองสิทธิเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งดูแลเรื่องที่แทรกแซง ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และมีหน้าที่วินิจฉัย เยียวยา ขณะนี้ร่างเสร็จแล้ว กำลังเขียนหลักการและเหตุผล หากไม่มีเหตุขัดข้องคาดว่าจะมีการนำเสนอสู่สภาฯ ต่อไป
กรณีสื่อใหม่ สื่อออนไลน์นั้น นายจักรกฤษ กล่าวว่า สิ่งที่กำลังทำ คือพยายามร่างหลักการแนวทางการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีความรับผิดชอบ ความคืบหน้า กำลังรอทำประชาพิจารณ์ในเร็วๆนี้
ขณะที่ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนานุกุล ตัวแทนคณะทำงานพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อ เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม โดยสื่อจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความถูกต้อง ควบคู่ไปกับการมีเสรีภาพด้วย
ดร.สุดารัตน์ กล่าวถึงการให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไปสอบถามเรื่องการปฏิรูปสื่อควรปฏิรูปอะไร คำตอบที่ได้แสดงให้เห็นว่า ช่วงที่การเมืองในบ้านเรามีปัญหา คนเห็นความบกพร่องมากที่สุด คือ การเลือกข้าง การบิดเบือน ความไม่เป็นกลาง เมื่อถามว่า ต้องปฏิรูปสื่อด้านอะไร พบว่า ครึ่งหนึ่งมองไปที่เรื่องของข่าวต้องปฏิรูป ครึ่งหนึ่งไปพูดถึงเรื่องสื่ออื่นๆ เช่น ละคร ภาพยนตร์ ต้องปฏิรูป ซึ่งงานวิจัยนี้ทำเฉพาะเรื่องข่าว ขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้น
เมื่อถามถึงคุณภาพบัณฑิตที่เข้าสู่วิชาชีพสื่อ กับคำวิพากษ์วิจารณ์ คนที่เข้ามาอยู่ในวงการสื่อไม่เก่ง ดร.สุดารัตน์ กล่าวว่า ระบบทำให้คนที่เก่ง เก่งไม่ออก เพราะต้องทำงานอยู่ที่เดิมตลอดเวลา ทำงานแบบเดิมเหมือนโรงงานข่าว โรงงานผลิตตุ๊กตา การทำงานแบบนี้ทำให้คนไม่พัฒนา รวมทั้งการทำงานมีการกังวลเรื่องการตกข่าว จนทำให้เกิดข่าวลอก การทำงานของสื่อ ต้องถามว่า จริงๆแล้วจำเป็นหรือไม่ต้องมีข่าวเหมือนๆ กัน ดังนั้นจึงมองว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของกระบวนการผลิตหรือไม่ที่มีปัญหา การสั่งการมีปัญหาหรือไม่ กระบวนการแบบนี้ทำให้ข่าวไม่มีคุณภาพใช่หรือไม่
ดร.สุดารัตน์ กล่าวว่า ฝากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะเจ้าของสื่อ ถ้าจะทำงาน CSR ควรส่งเสริมการอ่านให้มากที่สุด และส่งผ่านความอยากเป็นนักข่าว รวมทั้งกลับไปดูหลักสูตรการสอนวารสารศาสตร์ ว่าเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น
นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ตัวแทนคณะทำงานปรับปรุงกฎหมายด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า สื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแยกไม่ออก ขณะที่สังคมนับวันยิ่งซับซ้อนมากยิ่งกว่าขนมชั้น เมื่อสังคมซับซ้อนมากก็ทำให้สื่อต้องปรับให้ทันกับความซับซ้อนนี้ ก่อนหน้านี้สื่อรายงานความจริง แต่ถามว่า ทุกวันนี้อะไรคือความจริง ความจริงถูกเจือด้วยความเชื่อ และมีชุดความจริงอยู่หลายชุด ดังนั้น การปฏิรูปสื่อ ต้องตามให้ทันทุกด้าน สื่อต้องทบทวนตัวเอง ซึ่งตรงนี้จะทำอย่างไร
“ปฏิรูปสื่อต้องปรับทั้งระบบ ไม่สามารถแตะจุดใดจุดหนึ่งได้ ขณะที่กฎหมายเป็นการแก้ปลายเหตุเท่านั้น การปฏิรูปต้องออกมาจากสำนึก” นายก่อเขต กล่าว และว่า การเร่งให้มีกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดกลไกการกำกับดูแล โดยเฉพาะสื่อที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น วิทยุชุมชน ดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ซึ่งการมีกฎหมายจุดประสงค์ต้องเป็นไปเพื่อกำกับดูแล ไม่ใช่การควบคุม เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการนำเสนอสื่อ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสื่อ เป็นองค์กรที่ได้รับการคาดหวังมาก จึงจำเป็นต้องทำให้กลไกมาดูแลสื่อที่ยังมีปัญหา เพื่อนำไปสู่การนำเสนอที่สร้างสรรค์ ถูกต้อง ตามที่ประชาชนคาดหวังไว้
สุดท้ายนางสาวเข็มพร วิรุฬราพันธ์ ตัวแทนคณะทำงานพัฒนากลไกการเฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อ ต้องหันมามองภาคประชาชนด้วย ต้องสร้างการมีส่วนร่วม ตรวจสอบและเฝ้าระวังสื่อ
“เวลาที่เราไปคุยกับชาวบ้าน เขาไม่เข้าใจโครงสร้างการปฏิรูปสื่อ หรือกฎหมาย ชาวบ้านสนใจละครหลังข่าว ใครทำใครท้อง ใครชอบใคร สนใจละครตบจูบ ดังนั้นมิติการปฏิรูปสื่อต้องมองวิถีชีวิตการรับสื่อ เสพสื่อ อะไรเป็นส่วนใหญ่ด้วย ซึ่งในชนบทกว่า 50% ควรต้องปฏิรูปเนื้อหาสาระสื่อที่เป็นประโยชน์ มองไปที่ระดับครอบครัว และเครือข่ายพ่อแม่ที่เฝ้าระวังสื่อ”
นางสาวเข็มพร กล่าวถึงคณะทำงานที่ตั้งโดย คพส.นั้น เพื่อให้บทบาทภาคประชาชนเข้มแข็ง เพราะตราบใดที่สังคมผู้รับสื่อไม่ตระหนักในสิทธิและหน้าที่ ไม่เท่าทันสื่อ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ นอกจากการไม่รู้สิทธิของตนเองแล้ว ยังมีช่องว่างองค์กรต่างๆ เฝ้าระวังสื่อ ทำงานไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นระบบ ไม่ยั่งยืน มีการตรวจสอบบางประเด็นแล้วก็เลิกไป ซึ่งจะทำอย่างไรให้การทำงานตรงนี้เป็นระบบและเข้มแข็งขึ้น
“การตรวจสอบนอกจากสื่อตรวจสอบกันเอง ควรมีองค์กรอิสระมีสถานภาพทางกฎหมายเป็นที่ยอมรับมาทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบสื่อ มีแหล่งที่มาของเงินทุนสนับสนุนที่แน่นอน เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ มีการจัดการความรู้ ศึกษาวิจัย เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ เพื่อสร้างกระบวนการรู้เท่าทันสื่อ”