วงเสวนาชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เปิดปม ไอซีทีบล็อกเว็บ 60-70 % ไม่ชอบด้วยกม.
ปิดแล้วจากไป หละหลวม แถมแก้ปัญหาไม่ตรงจุด “ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ” จวกไอซีที ไม่ใช่ยา ตามแก้ปัญหาทุกอย่างในโลกสังคมออนไลน์ได้ เสนอทางออกเร่งสร้างองค์กรตรวจสอบกันเอง ด้าน “สฤณี อาชวานันทกุล” ชี้เนื้อหาเว็บรุนแรง ไม่ควรจบที่เพียงการบล็อกอย่างเดียว แต่มุ่งจับคนผิดมาลงโทษด้วย
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดเสวนา เรื่อง “คลี่ปมกระบวนการบล็อกเว็บ : ปัญหาบังคับใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน” มีนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทที่ปรึกษากฎหมายไพบูลย์จำกัด ,นายมานะชัย บุญเอก นักวิชาการคอมพิวเตอร์ 7 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ,นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระและบรรณาธิการโอเพ่นออนไลน์ และนายบัณฑิต ว่องวัฒนะสิน กรรมาการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เน็ต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ จำกัด ร่วมเป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย นางสาวประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ ทีวีไทย ณ ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยไม่มีกฎหมายในการให้อำนาจบล็อกเว็บไซต์ เพราะการที่จะให้อำนาจฝ่ายบริหารที่จะบล็อกเว็บไซต์นั้น เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า ห้ามปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและสิทธิส่วนบุคคล แต่จากมีปัญหาคลิป ยูทิวป์ หมิ่นสถาบันสูงสุด และในขณะนั้นกฎหมายการปิดบล็อกไม่มี จึงดำเนินการร่างกฎหมายขึ้นมาใช้อย่างชัดเจน
“ต่อมาสมัยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ซึ่งต้องทำหน้าที่ในการปิดกั้นการส่งข้อมูลข่าสารที่จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศ มีอำนาจสามารถบล็อกได้ โดยไม่ต้องขอศาล ถือเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ เพราะการบล็อกเว็บ ควรต้องให้หน่วยงานหนึ่งเข้ามากรองอำนาจของฝ่ายบริหารด้วย นั่นก็ คือ ศาล ”
นายไพบูลย์ กล่าวว่า หากจะบล็อกเว็บไซต์ที่ถูกต้องนั้น ต้องประกอบด้วย เมื่อพนักงานพบว่า ทำผิดตามกฎหมาย เฉพาะเรื่องความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับการก่อการร้าย นั่นคือส่วนที่เน้น หรือเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี โดยต้องเป็นเว็บที่เกี่ยวกับลามก อนาจาร การพนัน การค้ามนุษย์ โดยไม่มีเนื้อหาที่เขียนว่า สามารถไปบล็อกเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาแสดงความคิดเห็นตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับการเมือง จากนั้น ขั้นตอนต่อไป คือ รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที จะเป็นคนตรวจสอบและลงนามยืนยัน และส่งให้ขั้นตอนสุดท้าย คือ ศาล เพื่อมีอำนาจในการสั่งการบล็อกเว็บ ซึ่งหากส่งเรื่องเข้าไปแล้ว ศาลสั่งปิดเว็บไซต์โดยไม่เข้ารายละเอียดดังกล่าว ก็ไม่สามารถบล็อกเว็บนั้นได้ตามกฎหมาย เพราะการจะไปละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนถือเป็นหลักการสำคัญมาก
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ในทางปฏิบัติก็ยังเกิดปัญหาเพราะเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับการแต่งตั้ง ไม่ได้มีการอบรมอย่างเป็นทางการ อีกทั้งการประกาศใช้เร็วเกินไป และพนักงานเจ้าหน้าที่บางส่วนใช้อำนาจบล็อกเว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือมีการมอบอำนาจให้คนอื่นแทนเวลาบล็อกเว็บไซต์ บางครั้งไม่เข้าองค์ประกอบความผิด คำสั่งถึงแม้สั่งโดยศาลจะเป็นโฆษะ ซึ่งต้องดำเนินคดีต่อด้วย แต่ประเทศไทยปิดแล้วจากไป และไม่ระบุว่า ใครปิด หรือปิดกี่วัน ถือว่า หละหลวม แก้ปัญหาไม่ตรงจุด
“ผมคิดว่า การบล็อกของไอซีทีนั้น 60-70 % ไม่ชอบทางกฎหมาย เป็นเพียงการวิเคราะห์ของนักวิชาการ ในฐานะผู้ร่างและองค์ประกอบ เท่านั้น ซึ่งหากดูกันอย่างชัดเจนในการแก้ไขปัญหาต่างๆนั้น กระทรวงไอซีที ไม่ใช่ยาที่จะสามารถนำมาแก้ปัญหาทุกอย่างในสังคมออนไลน์ได้ เพราะบางเรื่อง มีกฎหมายควบคุมในตัวของมันเองได้อยู่แล้ว ต้องจัดการตามกฎหมายต่างๆต่อไป ไม่มุ่งเพียงการบล็อกเว็บแล้วปัญหาจะจบ”
สำหรับแนวทางและมาตรการแก้การบล็อกเว็บไซต์นั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า มาตรการที่ได้ผล ควรตั้งให้มีองค์กรที่เกี่ยวข้องดูแลกันเอง ก่อนส่งให้รัฐปิด เพราะหากให้เจ้าหน้าที่ไล่ล่า คงตามไม่ทัน ยิ่งเป็นการเปลืองงบประมาณ ควรตั้งองค์กรควบคุมกันเองดีกว่า คาดว่า ข้อกฎหมายและวิธีปฏิบัติจะมีการควบคุมที่ชัดเจนขึ้น
ด้านนายมานะชัย กล่าวว่า รู้สึกไม่สบายใจที่การบล็อกเว็บไซต์ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและปิดกั้นข่าวสาร แต่อีกมุมหนึ่งอยากให้เข้าในว่าการปิดเว็บของกระทรวงไอซีทีเป็นการดูแลสังคม ซึ่งควรมีอยู่ในสื่ออินเทอร์เน็ตด้วย เพราะในสื่อออนไลน์ บางเรื่องกฎหมายที่ควบคุมก็ตามไม่ทัน
“เจ้าหน้าที่บางท่านต้องปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นเรื่องของกลไกการทำงาน ซึ่งหากจะดำเนินการต่อไปในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ควรที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องดูแลช่วยกัน ให้เกิดแผนงานชัดเจน หาจุดสมดุลร่วมกัน”
ส่วนนายบัณฑิต กล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายดี แต่สิ่งที่ชัดเจน คือ ออกกฎหมายแล้ว ทางปฏิบัติยากมาก ซึ่งหากเข้าใจเรื่องการบริการอินเทอร์เน็ต จะพบว่า มีเว็บไซต์ต่างประเทศ โดยเฉพาะการบล็อกที่เกตเวย์ เท่ากับว่าคนในประเทศไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ ผู้ใช้กฎหมายวันนี้ ทางเทคนิค รู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่งบประมาณไม่เพียงพอในการดูแล ก็โยนหน้าที่ไปให้กับคนอื่น
“การบล็อกเว็บนั้น กระทรวงไอซีทีสามารถทำได้เลย หากเป็นกรณีดูหมิ่นเบื้องสูงที่ชัดเจน และส่งผลต่อความรุนแรงในประเทศ แต่ผู้ที่ชี้ขาดการบล็อกเว็บทั้งหมดนั้น ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการทางสังคมจะสามารถจัดการได้เร็วกว่า เพราะผู้ใช้บริการเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน จะพบปัญหาและแก้ไขได้ง่าย ซึ่งส่วนนี้หากจะแก้ไขเว็บไซต์ไม่พึงประสงค์อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ รัฐต้องเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุน จำกัดการบล็อกให้น้อยที่สุด และปล่อยอำนาจให้เป็นของประชาชน”
ส่วนนางสาวสฤณี กล่าวถึงการบล็อกเว็บไซต์นั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่หากเพียงเป็นการเพิ่มมาตรการความปลอดภัย ก็เป็นสิ่งถูกต้อง แต่รัฐควรชี้แจงให้ได้ว่า ปิดเพื่ออะไร มีเหตุผลอย่างไร เพราะการบล็อกเว็บก็เหมือนการค้นกระเป๋าก่อนเข้าประเทศ หากมีเหตุผล เพื่อความปลอดภัย น่าเชื่อถือ ก็ควรทำ เพื่อป้องกันอันตราย
“การบล็อกเว็บไซต์นั้น เป็นเพียงกลไกเดียวในการใช้กฎหมาย ซึ่งหากเนื้อหารุนแรงจริง ไม่ควรจบที่บล็อกอย่างเดียว เพราะต่อไปอาจเกิดจริยวิบัติ คนที่ทำจะไม่กลัวกฎหมาย เพราะคิดว่า เนื้อหาปิดไป แต่สามารถไปเปิดที่เว็บอื่นได้ ซึ่งคนร้ายยังลอยนวลอยู่ ซึ่งต่อไปจำเป็นยิ่งที่ต้องมีมาตรการเด็ดขาด ดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย”