ตุลาการศาลปค.สูงสุด ชี้ปฏิรูปสื่อต้องปรับกม. -รัฐควรถอยห่าง
ตุลาการศาลปกครองสูงสุดชี้กฎหมายสื่อไทยเก่า ล้าหลัง ไม่เอื้อให้สื่อมีเสรีภาพ บอกตัวอันตรายคุกคามคือรัฐ ทุนนิยมและสื่อด้วยกันเอง แนะปฏิรูปสื่อต้องปรับกฎหมายให้สอดคล้องแยกผู้บริหารงานปลอดการครอบงำ ดันสื่อเป็นกิจการพิเศษ จัดสรรทรัพยากรสื่อใหม่ให้ได้ดุล รัฐต้องถอยตัวออก
วันนี้ (11 ก.ย.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันอิศรามูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดบรรยายหลักสูตรอบรมผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) เรื่อง “ทิศทางการปฏิรูปสื่อกับกฎหมายที่ควรรู้” โดย รศ.ดร.วิษณุ วรัญญู ตุลาการศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงกฎหมายสื่อที่มีอยู่ในขณะนี้ ค่อนข้างเก่า ล้าหลัง และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันทั้งในแง่การแสดงความคิดเห็นและการทำหน้าที่ความเป็นสื่อ แม้จะมีการปรับปรุงไปแล้วหลายฉบับ แต่สุดท้ายก็ไม่เอื้อต่อแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในสังคม อีกทั้งการออกกฎหมายมักไม่แสดงถึงจุดยืนเพื่อคุ้มครองสื่อแต่ออกจากรัฐเพื่อต้องการควบคุมสื่อมากกว่า
“ตัวอันตรายที่คุกคามเสรีภาพสื่อ ตัวใหญ่ที่สุดคือรัฐ ซึ่งมีอำนาจและเป็นผู้ควบคุมนิตินโยบาย รองลงมาเป็นทุนนิยม ที่ทำให้สื่อกลายเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ สุดท้ายคือสื่อด้วยกันเอง เนื่องจากโครงสร้างภายในไม่ได้ถูกควบคุมโดยกฎหมาย การกำหนดนโยบายหรือความสัมพันธ์จึงเป็นไปแบบอิสระ”
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า หลักการพื้นฐานที่ยังขาดอยู่ในกฎหมาย คือ 1.การทำงานในลักษณะลบผลประโยชน์แอบแฝง หรือการแยกงานประชาสัมพันธ์ออกจากงานสื่อให้ชัดเจน เพราะสื่อคือผู้ทำหน้าที่คัดกรองให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่การเผยแพร่ทุกสิ่งที่อยู่ในมือแก่สาธารณะ 2.รัฐไม่มีหน้าที่และต้องไม่ทำสื่อ แต่ในไทยโดยเฉพาะสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่ยังปลดล็อกตัวเองไม่ได้ และ 3.การให้เสรีภาพการทำหน้าที่ของกองบรรณาธิการที่ปราศจากการครอบงำโดยเจ้าของสื่อ เนื่องจากไม่มีการแยกผู้เป็นของสื่อออกจากผู้ปฏิบัติงานสื่อ
รศ.ดร.วิษณุ กล่าวถึงข้อเสนอต่อการปฏิรูปสื่อเริ่มต้นจากการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยให้สอดคล้องต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปในสังคม, แยกเจ้าของกิจการออกจากผู้บริหารงานสื่อ เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งแง่ของเนื้อหาและการทำงานที่เป็นอิสระปลอดการครอบงำ, ปรับระบบของกฎหมายให้กิจการในเรื่องสื่อถือเป็นกิจการพิเศษ ไม่เหมือนการลงทุนทั่วไป เพราะเกี่ยวเนื่องกับสิทธิเสรีภาพและการสื่อสารถึงสาธารณะ, การสร้างหลักประกันคุ้มครองให้ผู้ปฏิบัติงานสื่อว่าจะมีสิทธิเสรีภาพและความมั่นคง ไม่มีสถานะเป็นเพียงพนักงานบริษัทเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ และสุดท้ายคือการจัดสรรทรัพยากรทางด้านการสื่อสารมวลชนใหม่ให้ได้ดุลยภาพ โดยรัฐต้องถอยตัวออกจากการเป็นผู้ทำสื่อ
“ปัญหาการปฏิรูปสื่อส่วนใหญ่ไม่ต่างจากการปฏิรูปอื่นๆ คือปัญหาส่วนใหญ่มักยึดโยงกับรัฐที่ยังไม่หลุดออกจากอำนาจ และยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาจัดการมากนัก สิ่งที่เป็นห่วงไม่ให้เกิดขึ้นคือการปะทะกันระหว่างประชาชนกับรัฐ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวเพราะจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่มีใครฟังใครซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณมาบ้างแล้ว” ตุลาการศาลปกครองสูงสุด กล่าว