เปิดตัว“คณะกก.สื่อสารเพื่อการปฏิรูป” มุ่งสร้างบทบาทสื่อเพื่อการปฏิรูปประเทศ
"มานิจ สุขสมจิตร"เผยดึงผู้แทนสื่อทุกภาคส่วนเข้าร่วม พร้อมเปิดพื้นที่รับฟังทั่วประเทศ ภายใต้โจทย์หลัก สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ คาด ก.ย. 53 จัดสมัชชาใหญ่รวมพลสื่อทุกประเภท
วันนี้ (20 ส.ค.) เมื่อเวลา 9.30 น. คณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ซึ่งเป็น 1 ใน 14 คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) ชุด ศ.นพ ประเวศ วะสี เป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการครั้งแรก เพื่อร่วมหารือวางกรอบการทำงาน ตามที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปได้มอบหมาย ณ ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ภายหลังการประชุมกว่า 3 ชั่วโมง นายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ จากกลุ่มวิชาชีพสื่อมวลชนและกลุ่มผู้บริโภคทุกแขนง รวม 15 คน ได้แก่ นายชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม ,นางสาวอารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ,นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ,นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย,นายเกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ,นางจำนรรค์ ศิริตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอส แอล จำกัด, พันตำรวจเอกญาณพล ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ,นายกฤษณพร เสริมพานิช อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ,นายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)(MCOT),รศ.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ,นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงาน สื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.),รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสาธารณะเพื่อสังคม สสส.และนายต่อพงษ์ เสลานนท์ อุปนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
“การทำงานจะทำภายใต้ คำถามใหญ่ 2 คำถาม คือ สื่อจะมีส่วนช่วยในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมอย่างไร และ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร ดังนั้น เพื่อร่วมกันเปลี่ยนประเทศไทย ในขณะที่ประเทศมีความแตกแยกนั้น กลุ่มสื่อจะแบ่งการทำงานแยกแต่ละฝ่าย เช่น กลุ่มเคเบิ้ลทีวี ,กลุ่มสื่อชุมชน ,กลุ่มนักข่าวนักหนังสือพิมพ์,กลุ่มนักข่าววิทยุ-โทรทัศน์,กลุ่มผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ก่อนแบ่งลงไประดมความคิดเห็นแต่ละฝ่าย ในการเป็นตัวสะท้อนเสียงจากประชาชน และจัดนำเสนอต่อ วง คสป.ให้ได้ภายในสิ้นปี 2553 ก่อนรวมตัวประชุมใหญ่ ในช่วงต้นปี 2554”
นายมานิจ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการชุดนี้ไม่มีหน้าที่เอาเรื่องปฏิรูปประเทศไทยไปเพื่อออกข่าว และไม่มีหน้าที่ในการปฏิรูปสื่อ แต่หน้าที่หลัก คือ เป็นตัวดึงสื่อมาช่วยในการปฏิรูปประเทศ ระดมความเห็นจากสื่อแขนงต่างๆ เพื่อเสนอเป็นแนวทางต่อการปฏิรูป และสนับสนุนบทบาทของสื่อต่อการสร้างพลังสังคม ซึ่งคาดว่าความเห็นที่จะได้ จะเป็นความเห็นที่หลากหลายในเรื่องการปฏิรูป จากตัวของสื่อที่จะเข้ามามีบทบาทเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ในสังคมผ่านหลายช่องทาง อาทิ ผ่านรายการโทรทัศน์ บทความ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ
ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า สัดส่วนคณะกรรมการได้พยายามเชิญบุคคลที่อยู่ในองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสื่อสารมวลชน ในส่วนกลางและระดับท้องถิ่น 2.กลุ่มสื่อของผู้ประกอบการการ รายการโทรทัศน์ ดารานักแสดง 3.กลุ่มภาควิชาการนิเทศศาสตร์ 4.กลุ่มผู้บริโภคสื่อ ผู้พิการ และสื่อเด็ก ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มนั้น คาดว่าจะเกิดการระดมความเห็นให้เกิดการทำงานในกลุ่มอย่างกว้างขวาง และตอบโจทย์หลัก 2 จาก วง คสป.ได้ และนอกจากนั้น ต้องไปช่วยผลักดันให้องค์กรสื่อเห็นความสำคัญ และผลักดันเปิดพื้นที่ให้มีการนำเสนอเนื้อหา และนำสังคมให้เข้ามาร่วมปฏิรูปประเทศไทยได้มากขึ้น
สำหรับปฏิทินการทำงานของคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า จะเริ่มเคลื่อนไหวโดยการจะไปพบปะผู้บริหารสื่อต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญของสื่อกับการปฏิรูปประเทศไทย จากนั้นจะมีเวทีสมัชชารวมของสื่อทุกประเภททั้งหมดครั้งใหญ่ ในเดือนกันยายนนี้ ช่วงเดือนตุลาคมก็จะมีเวทีสมัชชากลุ่มย่อยกระจายทั่วประเทศ ที่มาจากทางองค์กรวิชาชีพ เพื่อรวบรวมความเห็นเป็นระยะๆ
“ครั้งนี้ การรวบรวมความเห็นจะเน้นความต้องการปฏิรูปเรื่องสื่อทุกเรื่อง จากเดิมที่การปฏิรูปสื่อ จะเน้นหนักไปที่ในส่วนของเรื่องข่าวและโครงสร้าง แต่ในครั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นตรงกันว่า ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปสื่อบันเทิงด้วย เพราะเป็นสื่อที่คนดูจำนวนมาก และเข้าถึงคนทุกระดับ แต่ยังให้น้ำหนักกับสื่อข่าวที่เป็นตัวกระตุ้นสังคมเป็นหลัก แต่สื่อบันเทิง ต้องเน้นด้วยเป็นสำคัญ”
ทั้งนี้ รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวด้วยว่า เวลา 9.30 น.ในวันที่ 25 สิงหาคม จะมีการประชุมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปชุดใหญ่อีกครั้ง ที่บ้านพิษณุโลก ซึ่งภายหลังจากประชุม นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานภาควิชาการ คสป. จะจัดการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างทีมวิชาการและนักข่าว ในกรอบการทำงานร่วมกัน เพื่อร่วมสะท้อนและเสนอแนะการทำงานระหว่างนักข่าวและคณะกรรมการ เพื่อนนำไปปรับปรุงวิธีการทำงานในโอกาสต่อไป