“ศ.กิตติคุณสุกัญญา สุดบรรทัด” ชี้อนาคตเกิดจริยธรรมสื่อ 2 สาย
แบบอนุรักษ์นิยม เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความตรงไปตรงมา ซึ่งกำลังสูญหายไป กับจริยธรรมยิบย่อยสื่อใหม่ในโลกออนไลน์ ที่แต่ละเครือข่ายต้องสร้างกฎเกณฑ์และกฎจริยธรรมขึ้นมาเอง
เมื่อเร็วๆนี้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ฝ่ายวางแผนพัฒนาและวิจัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมทางวิชาการเพื่อร่วมแสดงความยินดีกับศาสตราจารย์สุกัญญา สุดบรรทัด อดีตหัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ และอดีตรองคณบดีฝ่ายวางแผนพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับกิตติบัตรแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขานิเทศศาสตร์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2553 เมื่อวันที่ 8 กรกฎคม พ.ศ.2553 ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา ชั้น 4 ตึก 1 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในโอกาสนี้ ศ.กิตติคุณ สุกัญญา ปาฐกถาพิเศษและการบรรยายทางวิชาการ เรื่อง “จริยธรรมสื่อกับวิกฤตทางการเมือง” ว่า เรื่องจริยธรรมสื่อ เป็นปัญหามากว่า 10 ปี ยังหาทางออกไม่ได้ สื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย จากการที่ทำงานที่ไม่มีจรรยาบรรณ เสนอข่าวสร้างแรงยุแยง ขัดแย้ง แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปเกิดสื่อใหม่ซ้อนเข้ามาก็ตาม ก็ยังจำเป็นต้องหาจริยธรรมจากสื่อใหม่ด้วย ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก
สำหรับสื่อกับการเกิดวิกฤตทางการเมือง ศ.กิตติคุณ สุกัญญา กล่าวว่า เป็นปัญหาที่ซ้อนทับปัญหา ในอดีตสื่อเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาให้จบสิ้นได้และอยู่เคียงข้างประชาชน แต่วิกฤตการเมืองครั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2549 สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันยังไม่มีท่าทีว่าจะจบ และกำลังจะบานปลาย จากผลการทำงานของสื่อ ที่ขาดจริยธรรมจนเกิดวิกฤตการเมือง เป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข ติดอยู่ในวังวน จมอยู่กับความไม่แน่นอน ในความยุ่งเหยิงนี้เองทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น
“สิ่งที่เราได้เผชิญอยู่ คือ สิ่งที่เรียกว่า ระเบียบใหม่ เป็นลักษณะพิเศษที่สื่อสามารถไปอยู่ได้ทุกที่ เรียกว่า สื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ และสื่อเครือข่ายการเมืองออนไลน์ ซึ่งเป็นที่แสดงพลังต่างๆ ในการสร้างผลกระทบที่ดีงามหรือชั่วร้ายในสังคม จากเดิมสื่อมวลชนมีหน้าที่นำเสนอความจริงที่สามารถยอมรับกันได้ในสังคม แต่พอมาถึงยุคสื่อใหม่ที่มีเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ เฟซบุค กลายเป็นได้มีการนำเสนอความเท็จ สร้างชุดความจริงฝ่ายเดียวเต็มไปด้วยการกล่าวหากัน ใช้คำรุนแรง สร้างความแตกต่างที่เป็นสะพานซ้อนกันเกิดเป็นวิกฤตซ้อน ทั้งวิกฤตทางการเมือง และวิกฤตทุกส่วนพร้อมกัน ทางสังคม เศรษฐกิจ จนเกิดมีการล่าแม่มด คล้ายกับยุคมืดที่จับตัวผู้ที่มีความเห็นต่าง มากักตัว เผา แขวนคอ”
อดีตรองคณบดีฝ่ายวางแผนพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสื่อใหม่ว่า เป็นชนวนทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง หากมองทางการเมืองอย่างเดียวจะไม่เข้าใจ ต้องมองทางด้านหลากมิติ ทั้งการตกเป็นเครื่องเมืองของนักการเมือง และนายทุน ขณะที่พลเมืองในเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็มีทั้งบุคคลในวิชาชีพ และประชาชนทั่วไป จากระบอบการเมืองในสังคมประชาธิปไตย ที่ประชาชนใส่ใจกับบ้านเมือง มีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง จากยุคที่นักข่าวเป็นผู้มีอิทธิพล และผู้บริโภคถูกยัดเยียดให้ได้รับสื่อข้างเดียว โดยไม่สามารถแสดงความคิดเห็น มาถึงในยุคสงครามข่าวสาร ที่เน้นความรวดเร็ว ตอบโต้กันได้ และสื่อไม่ได้ทำหน้าที่อยู่ข้างประชาชน ไม่ทำเพื่อมวลชน จึงเกิดการที่ประชาชนมีสิทธิเป็นสื่อได้เอง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง
“ต่อไป จริยธรรมสื่อจะมีการคงอยู่ของจริยธรรม 2 สาย คือ แบบอนุรักษ์นิยม เป็นปรัชญาที่ปฏิบัติสืบกันมา เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความตรงไปตรงมา ซึ่งกำลังสูญหายไป มีคนดำรงอยู่บ้าง และขณะเดียวกันโลกออนไลน์ ก็จะมีคนเรียกร้องทำเรื่องของโลกออนไลน์ ที่แต่ละเครือข่ายต้องสร้างกฎเกณฑ์และกฎจริยธรรมขึ้นมาเอง ซึ่งอาจจะเหมือนหรือต่างกัน เพราะสังคมในอนาคตเป็นการแยกย่อย เรียกว่า จรรยาบรรณแบบทัศนะนิยม ที่เป็นทัศนะนิยมที่หลากหลาย ไม่ต้องเหมือนกัน ซึ่งแต่ละเครือข่ายมีจุดยืนเหมือนกัน เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของแต่ละบุคคล แต่อาจจะมีจริยธรรมที่ไปด้วยกัน นักวิชาชีพยังคงต้องมีอยู่ แต่การเติบโตของเครือข่าย เกิดจริยธรรมยิบย่อย”
ศ.กิตติคุณ สุกัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในอนาคต แต่สิ่งหนึ่งที่เครือข่ายต่างๆต้องมอง คือ การมีคุณธรรม ซึ่งอาจจะแก้ไขโดยการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เกิดจริยธรรมในเครือข่ายออนไลน์ เกิดเป็นเครือข่ายที่ดีมีคุณธรรม สร้างพลเมืองที่เข้าใจ จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข