ปธ.สภาพัฒนาการเมือง หวังสื่อทำหน้าที่รับใช้สังคม คอยตักเตือนประเทศ
“ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” เปรียบ โซเชียล มีเดีย เป็นประเทศใหญ่ ใช้อย่างบูรณาการจะเสริมประชาธิปไตยให้ปชช. ด้าน “ชวรงค์ ลิมปัทมปาณี” ชี้สื่อมวลชนช่วยปฏิรูปประเทศได้ ต้องลดบทบาทสื่อภาครัฐ มีกระบวนการทางสังคมเข้าไปกดดันอย่างสร้างสรรค์
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการเผยแพร่ประชาธิปไตยและประชาสัมพันธ์ สภาพัฒนาการเมือง จัดเสวนาหัวข้อ “สื่อมวลชนกับการปฏิรูปประเทศไทย” ณ ห้องประชุมกิ่งทอง โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กรุงเทพมหานคร โดยมี ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวเปิดการเสวนา
ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า ในช่วง 20 -30 ปีที่ผ่านมา สื่อมีบทบาทสำคัญในการชี้นำประชาชนในแง่มุมต่างๆ ทั้งเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ในอดีต รัฐเป็นผู้ควบคุมสื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์ ส่วนเอกชนจะดูแลควบคุมเพียงหนังสือพิมพ์ แสดงให้เห็นว่า สื่อมีผลกระทบทางการเมือง ต่อการอยู่รอดของรัฐบาล และดำเนินงานเพื่อสอดคล้องกับนโยบายของรัฐในขณะนั้น แต่ปัจจุบันสื่อได้ขยายตัว มีทั้งสื่ออินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ การควบคุมโดยรัฐยังตามไม่ทัน มีผลทำให้เกิดความโน้มเอียงในการนำเสนอข่าวทางการเมืองที่เลือกข้าง หรือแม้กระทั่งการส่งข้อความถึงกันผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นความเห็นส่วนบุคคลในการสื่อสารทางการเมือง
“หากมองต่อว่าสื่อจะช่วยการปฏิรูปได้อย่างไร ควรต้องเน้น 2 ส่วนเป็นสำคัญ คือ 1.เนื้อหาสาระที่ใส่ลงไป ต้องให้เนื้อหาสาระความรู้ 2.วิธีการส่ง ภาษา รูปภาพ ลักษณะการส่ง แก่ผู้บริโภค ต้องไม่แสดงออกซึ่งความรู้สึก ไม่การตีความ และให้ความเห็นปนลงไปกับเนื้อข่าว”
ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวอีกว่า หากต้องการให้ประเทศไทยก้าวหน้าทางการเมืองอย่างมั่นคง สื่อมวลชนไม่ควรทำหน้าที่เพียงส่งข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่ต้องช่วยสรรสร้างให้คนไทยมีความคิดบวกในการปฏิรูปการเมืองด้วย ทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้คอยตักเตือนประเทศ เป็นผู้รับใช้ประโยชน์สาธารณะมากกว่าผลประโยชน์ของส่วนตน และทำงานโดยคำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรมวิชาชีพสื่อ
ขณะที่นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่น จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงทั้งโลก ทั้งภัยคุกคามด้านธรรมชาติและภัยการเมือง ดังนั้น เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป การทำหน้าที่สื่อมวลชนก็เช่นเดียวกันจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีมีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว
“ขณะนี้กระแสโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟสบุค ทวิตเตอร์ เป็นอีกสื่อหนึ่งที่มีคนใช้มาก เปรียบเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีผลต่อการเป็นผู้นำความคิดของคนในสังคม ซึ่งหากใช้โซเชียลมีเดียอย่างสมบูรณ์แบบบูรณาการข่าวสาร จะมีผลต่อการปฏิรูปอย่างมาก เพราะเมื่อพื้นที่ของการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวประชาชน ได้ จากสื่อที่ปัจจุบันไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ จากองค์กรผู้ควบคุมนโยบาย ทำให้กำแพงทางความคิดในการนำเสนอ ถูกทลาย เป็นการเสริมสร้างประชาธิปไตยแก่ประเทศชาติจากภาคประชาชน”
นายดนัย กล่าวต่อว่า แม้โซเชียลมีเดีย และสื่อใหม่ต่างๆ จะมีประโยชน์ในการส่งข่าวสารได้รวดเร็ว แต่ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ที่คนเฉพาะกลุ่มจะเลือกรับในสิ่งที่เชื่อเพียงด้านเดียว ดังนั้น หากจะให้สมบูรณ์แบบในอนาคตต้องเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนด้วย เพื่อช่วยให้มองทะลุสีเสื้อให้ได้ และทุกๆองค์กรต้องทำหน้าที่ของตนเอง เพื่อร่วมมือในการปฏิรูป
“ต่อไป สังคมไทยต้องมีการฟังกันมากขึ้น สื่อในอนาคตต้องเปลี่ยนด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หัวใจสำคัญ คือการมีส่วนร่วม ต้องคิดนอกกรอบ ใช้พลังการเมืองให้กลายเป็นเรื่องของคนทุกคนและต้องสร้างให้สื่อการเมืองอยู่ในชีวิตให้ได้”
ส่วนนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสื่อกับการปฏิรูปประเทศไทย มีการตั้งโจทย์ว่า จะแยกสื่อของรัฐ คือ ทีวี และ วิทยุ และสื่อของเอกชน คือ หนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ต อย่างไร โดยสิ่งที่ต้องถูกปฏิรูปเร่งด่วน คือ สื่อภาครัฐและสื่อใหม่ เช่น ดาวเทียม เคเบิล ที่รัฐไม่ได้มีกลไกเข้าไปกำกับดูแล และถูกละเลย การสร้างกฎหมายเพื่อตั้งองค์กรจัดสรรและดูแลคลื่นความถี่และช่วยดูแลกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่อย่างจริงจัง ที่เรียกว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)
สำหรับสื่อภาคเอกชนนั้น ผอ.สถาบันอิศรา กล่าวว่า จะมีกระบวนการตรวจสอบดูแลจากทางคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน(คพส.) อาจจะต้องมีองค์กรเข้ามาเพื่อช่วยฝึกอบรมทักษะต่างๆ แก่ผู้ผลิตสื่ออย่างเข้มข้น เพื่อเปิดโลกทัศน์ ให้ได้รับฟังเสียงของคนข้างนอก เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญแก่คนในวิชาชีพ
“อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องความรับผิดชอบของสื่อ ที่ผ่านมามีโครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม( Media monitor) เพื่อทำงานวิจัย ตรวจสอบ การทำงานของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ แต่ยังขาดการนำเสนอผลวิจัยในองค์กรสื่อต่างๆ ซึ่งหากมีภาควิชาการเข้ามาช่วย จะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือ และช่วยดูแลการนำเสนอข่าวสารของสื่ออย่างเป็นหลักการ และทำหน้าที่เข้มแข็งได้”
นายชวรงค์ กล่าวด้วยว่า สื่อมวลชนจะช่วยปฏิรูปประเทศได้ ต้องมีกฎหมาย สร้างองค์กร เพื่อปลดโซ่ตรวน นอกจากนั้น ควรมีเงินอุดหนุนสื่อภาคประชาชน ลดบทบาทสื่อภาครัฐ มีกระบวนการทางสังคม ให้ภาคประชาชนเข้าไปกดดันอย่างสร้างสรรค์ จะช่วยเกิดกระบวนการนำไปสู่การปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นได้จริง